คืนภาษีมีวิธีการอย่างไร

คืนภาษี
สอนบัญชีภาษีฟรี

ไม่ว่าเราจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ในระหว่างปี บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลนั้นจะมีการเสียภาษีออกไปก่อนจากการยื่นภาษีกลางปี หรือการถูกหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ ดังนั้นการขอคืนภาษีจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ว่าเราจะขอคืนภาษีต่างๆได้อย่างไร ในบทความนี้เราจะมาอธิบายในเรื่องการขอคืนภาษีแต่ละประเภทกัน

การขอคืนภาษีเงินได้ของบุคคล

ก่อนอื่นที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับการขอคืนภาษีเงินได้ของบุคคล ผมขออธิบายก่อนครับว่าปกติแล้วหากเรามีเงินได้เราก็ต้องยื่นภาษีประจำปีโดยใช้แบบ ภงด.90 (กรณีที่มีเงินได้หลายประเภท) และ ภงด.91 (เป็นกรณีที่มีเงินได้ประเภท 40(1) ประเภทเดียว)

นอกจากนี้สำหรับผู้มีเงินได้ถึงพึงประเมินประเภท 40(5) 40(6) 40(7) 40(8) จะต้องยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปีด้วย โดยใช้แบบ ภงด.94

โดยปกติแล้วกรณีบุคคลธรรมดา เราจะมีการเสียภาษีไปก่อนล่วงหน้าได้ 2 กรณีคือ

  1. การยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปีสำหรับผู้มีเงินได้ถึงพึงประเมินประเภท 40(5) 40(6) 40(7) 40(8)
  2. การถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ประเภทค่าบริการต่างๆ

ในการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีโดยใช้ ภงด.90 หรือ ภงด.91 หากภาษีประจำปีที่คำนวณได้นั้น มากกว่า ภาษีที่เราจ่ายออกไปล่วงหน้านั่นหมายความว่าเราจะต้องจ่ายชำระภาษีเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น นาย A ยื่นเสียภาษีกลางปีโดยใช้แบบ ภงด.94 เป็นจำนวน 100 บาท และในระหว่างปีนาย A ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปทั้งสิ้น 150 บาท ดังนั้นภาษีที่นาย A จ่ายไปล่วงหน้าคือ 100 + 150 = 250 บาท ตอนสิ้นปีนาย A คำนวณภาษีเงินได้ประจำปีได้ที่ 300 บาท ดังนั้นนาย A ก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมเป็นจำนวน 300 – 250 = 50 บาท เป็นต้น

หากภาษีประจำปีที่คำนวณได้นั้น น้อยกว่า ภาษีที่เราจ่ายออกไปล่วงหน้านั่นหมายความว่าเรามีสิทธิขอคืนภาษีที่จ่ายเกินไปได้ ยกตัวอย่างเช่น นาย B ยื่นเสียภาษีกลางปีโดยใช้แบบ ภงด.94 เป็นจำนวน 50 บาท และในระหว่างปีนาย B ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปทั้งสิ้น 100 บาท ดังนั้นภาษีที่นาย A จ่ายไปล่วงหน้าคือ 50 + 100 = 150 บาท ตอนสิ้นปีสมมติว่านาย B คำนวณภาษีเงินได้ประจำปีได้ที่ 100 บาท ดังนั้นนาย B ก็จะมีสิทธิขอคืนภาษีได้เป็นจำนวน 150 – 100 = 50 บาท เป็นต้น

ในการขอคืนภาษีจะสามารถทำเรื่องขอคืนโดยการเขียนคำร้องขอคืนเงินภาษีได้ในตัวแบบ ภงด.90 ได้เลยดังนี้

ขอคืนภาษี ภงด 90

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ดังนี้ : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณอย่างไร? / ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของบุคคลอย่างไร และเมื่อใด?

การขอคืนภาษีของนิติบุคคล

หากเราจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เราก็มีหน้าที่ต้องยื่นเสียภาษีปีละ 2 ครั้งเช่นกัน นั่นคือการยื่นเสียภาษีประจำปีโดยใช้แบบ ภงด.50 และการยื่นแบบภาษีครึ่งปีโดยใช้แบบ ภงด.51

โดยปกติแล้วนิติบุคคลจะเสียภาษีล่วงหน้าได้ใน 2 กรณีนั่นคือ

  1. ภาษีเงินได้ที่นิติบุคคลถูกหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้จากรายได้ค่าบริการ
  2. ภาษีเงินได้ครึ่งปีโดยการยื่นแบบ ภงด.51

ในการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปี หากภาษีประจำปี มากกว่า ภาษีที่นิติบุคคลจ่ายล่วงหน้า เราก็จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น บริษัท C คำนวณแบบ ภงด.50 ภาษีเงินได้ประจำปีได้จำนวน 1,000 บาท และบริษัทได้มีการจ่ายภาษีครึ่งปีแล้วเป็นจำนวน 400 บาท และมีภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้เป็นจำนวน 200 บาท แสดงว่าบริษัทนี้มีภาษีที่จ่ายล่วงหน้าเป็นจำนวน 600 บาท ดังนั้นบริษัทก็จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมเป็นจำนวน 1,000 – 600 = 400 บาท

หากภาษีประจำปี น้อยกว่า ภาษีที่จ่ายล่วงหน้า เราก็จะมีสิทธิในการขอคืนภาษีได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท D คำนวณแบบ ภงด.50 ภาษีเงินได้ประจำปีได้จำนวน 500 บาท และบริษัทได้มีการจ่ายภาษีครึ่งปีแล้วเป็นจำนวน 300 บาท และมีภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้เป็นจำนวน 400 บาท แสดงว่าบริษัทนี้มีภาษีที่จ่ายล่วงหน้าเป็นจำนวน 700 บาท ดังนั้นบริษัทก็จะมีสิทธิขอคืนภาษีได้เป็นจำนวน 700 – 500 = 200 บาทนั่นเอง

ในการขอคืนภาษีของนิติบุคคลจะสามารถทำเรื่องขอคืนโดยการเซ็นชื่อในช่องคำร้องขอคืนเงินภาษีได้ในตัวแบบ ภงด.50 ได้เลยดังนี้

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ดังนี้ : ภาษีเงินได้นิติบุคคลคืออะไร? / ภงด 50 และ ภงด 51 คืออะไร?

การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เรามีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเรามียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะต้องมีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนโดยใช้แบบ ภพ.30

ในแต่ละเดือนหากภาษีขาย มากกว่า ภาษีซื้อ เราจะต้องนำส่งภาษีเพิ่มเติมให้แก่กรมสรรพากร ยกตัวอย่างเช่น บรัท E มีภาษีขายประจำเดือนที่ 2,000 บาท และมีภาษีซื้อที่ 1,500 บาท ดังนั้นบริษัท E จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมเป็นจำนวน 2,000 – 1,500 = 500 บาท

ในแต่ละเดือนหากภาษีขาย น้อยกว่า ภาษีซื้อ เราก็จะสามารถเลือกได้ 2 ทางคือ การขอคืนภาษี หรือ การขอนำภาษีไปเครดิตในเดือนถัดไป ยกตัวอย่างเช่น บรัท F มีภาษีขายประจำเดือนที่ 3,000 บาท และมีภาษีซื้อที่ 4,500 บาท ดังนั้นบริษัท F จะสามารถขอคืนภาษีได้ หรือขอเครดิตภาษีได้เป็นจำนวน 4,500 – 3,000 = 1,500 บาท

หากบริษัทต้องการขอเครดิตภาษีไปใช้ในเดือนถัดไปก็กรอกข้อมูลในแบบตามปกติ แต่หากต้องการขอคืนภาษีเป็นเงิน บริษัทจะสามารถทำเรื่องขอคืนโดยการเซ็นชื่อในช่องการขอคืนภาษีในตัวแบบ ภพ.30 ได้เลยดังนี้

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ดังนี้ : ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร?

การขอคืนภาษีในกรณีอื่น

จะเห็นได้ว่าในขอคืนภาษีตามที่ได้อธิบายไปทุกๆภาษีจะเป็นการทำเรื่องขอคืนในแบบที่ยื่นภาษีได้เลย แต่อย่างไรก็ตามหากเราไม่ได้ทำเรื่องขอคืนในแบบภาษีดังกล่าว เราก็สามารถทำเรื่องขอคืนภาษีได้อีก 1 ช่องทางโดยการกรอกคำร้องขอคืนภาษีโดยใช้แบบ ค.10 ดังนี้

ขอคืนภาษีด้วย ค.10

ในแบบ ค.10 นั้นสามารถทำเรื่องขอคืนได้ในทุกๆประเภทภาษี ทั้งภาษีเงินได้ของบุคคล ภาษีของนิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีการรับมรดก และภาษีอื่นๆ โดยข้อมูลสำคัญที่ต้องกรอกในแบบ ค.10 นั้นมีดังต่อไปนี้

  1. ชื่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ขอคืน
  2. ชื่อสถานประกอบการ
  3. ที่อยู่
  4. ประเภทภาษีอากรที่ขอคืน
  5. มูลเหตุที่ขอคืน
  6. รายละเอียดของมูลเหตุที่ขอคืน
  7. เอกสารที่ยื่นประกอบคำร้อง

สิ่งที่จะตามมาหากเราขอคืนภาษี

ก่อนที่เราจะเลือกขอคืนภาษี แน่นอนว่าเราจะต้องมั่นใจมากๆว่าข้อมูลเอกสารหลักฐานต่างๆที่เราใช้ในการเสียภาษีนั้นถูกต้องและครบถ้วน เพราะเราจะมีความเสี่ยงที่จะถูกสรรพากรเรียกเอกสารไปตรวจสอบในการขอคืนภาษี

จากประสบการณ์ที่ผมเห็นนั้นมีหลายกรณีมากๆที่ขอคืนภาษีไปแล้ว ถูกเรียกเตรวจและถูกประเมินภาษีเพิ่มเติม ซึ่งภาษีเพิ่มเติมนั้นมากกว่าภาษีที่จะขอคืน ทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มเติมแทนที่จะได้เงินภาษีคืน ดังนั้นเราจะต้องมั่ยใจมากๆว่าเราทำถูกต้องก่อนที่จะเลือกขอคืนภาษี

สรุป

การขอคืนภาษีนั้นมีหลากหลายรูปแบบมากตามที่ได้อธิบายไปแล้วในบทความนี้ ก่อนที่เราจะขอคืนภาษีนั้นเราควรมีความมั่นใจว่าเราได้ทำข้อมูลต่างๆถูกต้องแล้ว เนื่องจากจะต้องถูกสรรพากรตรวจสอบ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)

ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า

ช่วยแชร์บทความให้หน่อยครับ