ถอด vat มีวิธีการอย่างไร?

ถอด vat
สอนบัญชีภาษีฟรี

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มในเบื้องต้นกันก่อน

ก่อนที่จะทำความเข้าใจในเรื่องการถอด Vat เราต้องมาทำความเข้าใจในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มกันก่อน

ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) คือผู้ประกอบการที่จด Vat หรือ ผู้ประกอบการที่มียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จึงต้องจด Vat ตามกฎหมายกับกรมสรรพากร

เมื่อผู้ประกอบการจด Vat แล้ว การขายสินค้าทุกๆรายการจะต้องมีการออกใบกำกับภาษีและคิดภาษีขาย (Output vat) จากลูกค้าด้วย ส่วนรายการซื้อหากเราซื้อสินค้า / บริการ มาจากผู้ประกอบการที่จด Vat เช่นเดียวกัน เราก็จะได้ใบกำกับภาษี เพื่อนำมาคำนวณภาษีซื้อ (Input vat) โดยบริษัทจะต้องคำนวณและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นประจำทุกๆเดือน (ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แต่หากนำส่งแบบออนไลน์ จะเป็นภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป) สูตรในการคำนวณจะเป็นดังต่อไปนี้

ภาษีมูลค่าเพิ่มนำส่ง = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ

หาก ภาษีขาย > ภาษีซื้อ ทางบริษัทจะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร แต่หาก ภาษีขาย < ภาษีซื้อ ทางบริษัทสามารถนำยอดดังกล่าวไปเครดิตภาษีในเดือนถัดไป หรือจะขอคืนเป็นเงินสดก็ได้

ลองศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่บทความนี้ :

ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร vat คืออะไร

จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดีหรือไม่

การยื่นภาษีมูลค่าพิ่ม มีขั้นตอนอย่างไร

แบบ ภพ 30 มีวิธีการกรอกข้อมูลอย่างไร

ทำความเข้าใจกับคำว่า ราคาก่อน Vat กับ ราคาหลัง Vat

คำว่า ราคาก่อน Vat คือ ราคาก่อนคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำว่า ราคาหลัง Vat คือ ราคาหลังคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ร่ำรวยยิ่ง จำกัด ได้ซื้อสินค้ากระเบื้องปูพื้น และปูนยาแนว จ่ายเงินรวมไปทั้งสิ้น 26,964 บาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

ใบกำกับภาษี

ค่ากระเบื้องปูพื้น จำนวนเงิน 25,000 บาท เป็นราคาก่อน Vat เนื่องจากยังเป็นราคาที่ไม่ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

ค่าปูยาแนว จำนวนเงิน 200 บาท เป็นราคาก่อน Vat เนื่องจากยังเป็นราคาที่ไม่ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

ยอดรวมในการซื้อที่ 25,200 บาท ก็เป็นราคาก่อน Vat เช่นเดียวกัน เนื่องจากยังเป็นราคาที่ไม่ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

ส่วนยอด จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จำนวน 1,764 บาท เป็นยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะคำนวณมาจากค่าสินค้าก่อน Vat ที่ 25,200 บาท x 7% = 1,764 บาท

ยอด จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 26,964 บาท เกิดจาก ยอดก่อน Vat + ภาษีมูลค่าเพิ่ม = 25,200 + 1,764 = 26,964 บาท ซึ่งเป็นยอดหลัง Vat นั่นเอง

ราคาก่อน Vat นั้นจะเป็นราคาที่เราเอาไว้ใช้ในการยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย หรือ ยอดซื้อ ให้ยื่นยอดขายและยอดซื้อโดยใช้ยอดก่อน Vat เช่น ยอดขายสินค้าก่อน Vat 200 บาท มีภาษีขาย 14 บาท ยอดซื้อสินค้าก่อน Vat 100 บาท มีภาษีซื้อ 7 บาท ซึ่งเวลายื่นแบบ ภพ.30 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะต้องยื่นยอดขายที่ 200 บาท (ก่อน Vat) ยื่นยอดซื้อ 100 บาท (ก่อน Vat) ยื่นยอดภาษีขาย 14 บาท ภาษีซื้อ 7 บาท ดังนั้นมียอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งเป็นจำนวน 14 – 7 = 7 บาท

สูตรคำนวณวิธีในการถอด Vat

โดยปกติแล้วหากเราทราบราคาสินค้าแบบเป็นยอดหลัง Vat หากว่าเราต้องการถอด Vat เพื่อให้ทราบถึงมูลค่าสินค้ายอดก่อน Vat ว่าเป็นเท่าไหร่ สูตรในการคำนวณการถอด Vat จะเป็นดังนี้

ยอดก่อน Vat = ยอดหลัง Vat x 100/107

จากสูตรข้างต้น ลองคำนวณยอดจากตัวอย่างการซื้อ ค่ากระเบื้องปูพื้น ค่าปูยาแนว จะได้การคำนวณดังนี้

ยอดก่อน Vat = ยอดหลัง Vat x 100/107

ยอดก่อน Vat = 26,964 x 100/107 = 25,200 บาท ซึ่งตรงกันกับยอดก่อน Vat นั่นเอง

หรือมาลองดูอีกตัวอย่างในการถอด vat สมมติยอดสินค้าซึ่งรวม Vat แล้วทั้งหมด 107 บาท หากเราต้องการถอด Vat ก็สามารถคำนวณได้ดังนี้

ยอดก่อน Vat = ยอดหลัง Vat x 100/107

ยอดก่อน Vat = 107 x 100/107 = 100 บาท

สรุปการถอด Vat

สรุปคือสูตรในการถอด Vat คือ ยอดก่อน Vat = ยอดหลัง Vat x 100/107 หากว่าเราต้องการทราบว่ามูลค่าสินค้าที่เราซื้อมารวม มียอดก่อน Vat เท่าไหร่ก็ให้ใช้สูตรในการคำนวณนี้นั่นเอง หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)

ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า