คำถามที่ว่าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดีหรือไม่ คงจะเป็นคำถามที่น่าปวดหัวมากสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ โดยเฉพาะกรณีที่รายได้คุณยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียน ในบทความนี้จะมาสรุปว่าเมื่อจดทะเบียนบริษัทแล้ว เราควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยหรือไม่
ต้องการจดทะเบียนบริษัทด้วยตนเอง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ดูรายละเอียดได้ที่ : สอนทะเบียนบริษัทออนไลน์
ท่านใดต้องการบริการรับทำบัญชี ทางเรามีโปรแกรมบัญชีออนไลน์ให้ใช้ฟรี สามารถออกเอกสารหน้าตาสวยงามผ่านโปรแกรมได้ ดูรายละเอียดที่นี่ : รับทำบัญชี
ดูคำอธิบายบทความในรูปแบบ VDO ที่ :
ประวัติผู้เขียน / ผู้สอน
- ปริญญาตรีบัญชี ธรรมศาสตร์
- ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเงิน NIDA
- ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA)
- ประกาศนียบัตรการรายงานทางการเงินไทย (DipTFR)
- Audit Manager ที่ EY (ประสบการณ์ 8 ปี ใน Big4)
- ดูใบประกาศทางวิชาชีพ
- ดูรีวิวจากลูกค้า
- About me
เงื่อนไขในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
ในส่วนแรกนี้เรามาดูเงื่อนไขในการจดภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายกันก่อนครับ ตามกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นหากบริษัทคุณมีรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี อันนี้ทางคุณต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มและเข้าสู่ระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตามประเด็นอยู่ที่ว่าแล้วถ้าคุณเพิ่งเปิดบริษัทใหม่ที่รายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการยังไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีหล่ะ ตามกฎหมายคุณยังไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ หรือถ้าคุณต้องการจะไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้เช่นเดียวกัน แบบนี้ทางคุณควรจะต้องมีหลักการในการวิเคราะห์ครับว่าบริษัทของเราควรที่จะจดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
ศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม : ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร
การวิเคราะห์ว่าธุรกิจเราควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
สิ่งแรกที่คุณควรทราบหากจดภาษีมูลค่าเพิ่มคือ
- ทุกๆการขายทางคุณจะต้องนำส่งภาษีขายให้กรมสรรพากร 7% ของยอดขายก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- หากซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คุณสามารถนำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นมาหักออกจากภาษีขายได้ก่อนนำส่งให้สรรพากร
ทีนี่เราลองมาดูตารางหลักในการวิเคราะห์กันครับ
กรณีที่ 1 อำนาจในการผลักภาระภาษีขายมาก + ต้นทุนของกิจการมีภาษีซื้อมาก
กรณีที่คุณมีอำนาจในการผลักภาระภาษีขายมาก ยกตัวอย่างเช่น ปกติหากคุณขายสินค้ามูลค่า 100 บาท ถ้าคุณจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และคุณสามารถขึ้นราคาและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าได้เต็มจำนวนที่ 107 บาท โดยการขึ้นราคานี้ไม่ได้ส่งผลที่ทำให้คุณเสียลูกค้าไป กรณีนี้หมายความว่าทางคุณมีอำนาจในการผลักภาระภาษีขายไปให้แก่ลูกค้ามาก
กรณีต้นทุนของกิจการมีภาษีซื้อมาก ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำธุรกิจซื้อมาขายไปสินค้าและซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นต้นทุนของคุณทุกๆรายการจะมีภาษีซื้อที่สามารถนำไปเคลมได้ กรณีนี้หมายความว่าต้นทุนของกิจการมีภาษีซื้อมาก
ดังนั้นหากเข้ากรณีดังกล่าว ทางคุณสามารถผลักภาระภาษีขายไปให้แก่ลูกค้าได้โดยไม่ต้องออกเอง และต้นทุนของธุรกิจมีภาษีซื้อมากที่สามารถนำไปเคลมหักจากภาษีขายได้ คุณก็ควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะจะได้รับประโยชน์และมีกำไรสูงสุดหากจดภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีที่ 2 อำนาจในการผลักภาระภาษีน้อย + ต้นทุนของกิจการมีภาษีซื้อน้อย
กรณีที่คุณมีอำนาจในการผลักภาระภาษีขายน้อย ยกตัวอย่างเช่น ปกติหากคุณขายสินค้ามูลค่า 100 บาท ถ้าคุณจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่คุณไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ เพราะจะทำให้คุณเสียฐานลูกค้าไปและคุณต้องขายสินค้าในราคา 100 บาทเท่าเดิม นั่นหมายความว่าคุณจะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่สรรพากร 6.54 บาท (93.46 x 7%) แสดงว่ารายได้ที่บริษัทได้รับจริงๆคือ 93.46 บาท
กรณีต้นทุนของกิจการมีภาษีซื้อน้อย ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำธุรกิจให้บริการที่ใช้พนักงานเป็นหลัก เช่น ธุรกิจรับทำบัญชี เป็นต้น ต้นทุนหลักๆของกิจการคือเงินเดือนที่จ่ายให้แก่พนักงาน ซึ่งเงินเดือนเป็นต้นทุนที่ไม่มีภาษีซื้อ ในกรณีนี้หมายความว่าต้นทุนของกิจการมีภาษีซื้อน้อย
ดังนั้นหากเข้ากรณีดังกล่าว ทางคุณไม่สามารถผลักภาระภาษีขายไปให้แก่ลูกค้าได้และต้องออกเอง และต้นทุนของธุรกิจมีภาษีซื้อน้อยไม่สามารถนำไปเคลมหักจากภาษีขายได้ คุณก็ไม่ควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะจะเสียประโยชน์และทำให้กิจการมีกำไรลดลงหากจดภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีที่ 3 (อำนาจในการผลักภาระภาษีน้อย + ต้นทุนของกิจการมีภาษีซื้อมาก) หรือ (อำนาจในการผลักภาระภาษีมาก + ต้นทุนของกิจการมีภาษีซื้อน้อย)
กรณีดังกล่าวจะเป็นกรณีที่คุณได้ประโยชน์เพียงด้านเดียว อันนี้ก็แล้วแต่พิจารณาว่าจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ซึ่งให้ทราบเอาไว้ว่าหากคุณจดทะเบียนภาษีมูค่าเพิ่มแล้ว คุณมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภพ.30) ซึ่งจะเป็นภาระเพิ่มเติมเข้ามา ดังนั้นถ้าเข้ากรณีนี้แนวโน้มคือไม่ควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มครับ
แนะนำหลักสูตรเรียนออนไลน์
สำหรับท่านใดที่สนใจเรียนหลักสูตรออนไลน์ ดูรายละเอียดได้ดังนี้
บัญชีภาษีสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ เน้นปูพื้นฐานให้สำหรับผู้ที่เพิ่งจดจัดตั้งบริษัทใหม่ แต่ยังไม่มีความรู้อะไรเลย
อบรมบัญชีออนไลน์ สามารถเก็บชั่วโมง CPD CPA ได้ (สำหรับผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี)
ธุรกิจประเภทใดควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามที่ผมได้อธิบายไปในหัวข้อก่อน หากธุรกิจคุณสามารถผลักภาระภาษีขายไปให้แก่ลูกค้าได้ ธุรกิจเหล่านี้ควรจดภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะมีต้นทุนภาษีซื้อมาก
- ธุรกิจซื้อมาขายไป
- ธุรกิจโรงงานผลิตสินค้า ที่มีสัดส่วนของวัตถุดิบทางตรงมาก (ค่าแรงและค่าใช้จ่ายในการผลิตมีสัดส่วนที่น้อย)
- ธุรกิจบริการที่มีต้นทุนภาษีซื้อมาก
ศึกษาเพิ่มเติมจากสรรพากร : ภาษีมูลค่าเพิ่ม
สรุปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดีหรือไม่
หากคุณเป็นผู้ประกอบการเพิ่งเปิดบริษัทใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่แล้วยอดขายยังไม่ถึง 1.8 ล้านบาท ตามเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นคุณควรจะต้องมีหลักการวิเคราะห์ที่ดีว่าธุรกิจของคุณควรจะจดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ จริงๆแล้วมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องนำมาวิเคราะห์ เช่น หากคู่ค้าของคุณต้องการให้คุณจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อันนี้คุณก็อาจไม่มีทางเลือกจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้
สรุปหากไม่มีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง กรณีที่คุณควรต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นคือกรณี อำนาจในการผลักภาระภาษีขายมาก + ต้นทุนของกิจการมีภาษีซื้อมาก
มีข้อสงสัยตรงไหนสามารถสอบถามได้ครับ
ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา
(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)
ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้าช่วยแชร์บทความให้หน่อยครับ