เงินคืนภาษีทุกคนมีสิทธิได้รับคืนหากว่าภาษีที่เราเสียไปล่วงหน้านั้นมากกว่าภาษีเงินได้ของบุคคลที่จะต้องเสียประจำปี ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเงินคืนภาษีกัน
หลักการของเงินคืนภาษีของบุคคล
หลักการของเงินคืนภาษีสามารถทำความเข้าใจแบบง่ายๆใน 2 กรณีได้ดังนี้
กรณีที่ 1 : ภาษีจ่ายล่วงหน้า > ภาษีที่คำนวณได้ = ขอเงินคืนภาษี
กรณีที่ 2 : ภาษีจ่ายล่วงหน้า < ภาษีที่คำนวณได้ = จ่ายภาษีเพิ่ม
ในกรณีที่ 1 หากบุคคลมีภาษีจ่ายล่วงหน้ามากกว่าภาษีเงินได้ของบุคคลประจำปีที่คำนวณได้ เรามีสิทธิที่จะขอเงินคืนภาษี ในส่วนที่จ่ายเกินได้ ในทางกลับกัน กรณีที่ 2 หากบุคคลมีภาษีจ่ายล่วงหน้าน้อยกว่าภาษีเงินได้ของบุคคลประจำปีที่คำนวณได้ เราก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมจากส่วนที่จ่ายขาดไป
จากสมการข้างต้นจะเห็นได้ว่ามี 2 ตัวแปรที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ภาษีจ่ายล่วงหน้า และ ภาษีที่คำนวณได้ ซึ่งในบทความนี้จะขออธิบายตัวแปรทั้ง 2 ตัวเพิ่มเติมดังนี้
ตัวแปรภาษีจ่ายล่วงหน้าของบุคคลธรรมดานั้นจะเกิดขึ้นได้ 2 กรณี ดังนี้
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย : เวลาที่เราทำงานประจำแล้วได้รับเงินเดือนในแต่ละเดือน บริษัทผู้ว่าจ้างจะต้องมีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ และหักเงินจำนวนดังกล่าวส่งสรรพากรตามกฎหมาย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม : การหักภาษี ณ ที่จ่ายบุคคลธรรมดา (เงินเดือน) มีวิธีการอย่างไร
ในกรณีที่เราไม่ได้ทำงานประจำ หากเป็นการรับจ้างทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างที่เป็นนิติบุคคล ก็จะต้องมีการหัก ณ ที่จ่ายเช่นเดียวกันตามประเภทเงินได้
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายคืออะไร
ซึ่งตัวภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายถือว่าเป็นภาษีจ่ายล่วงหน้าที่บุคคลได้จ่ายออกไปก่อน และสามารถเอาไปหักจากภาษีเงินได้ของบุคคลที่คำนวณตอนปลายปีได้
- ภาษีเงินได้จ่ายครึ่งปี : บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้ตามมาตรา 40 (5) – 40 (8) จะต้องยื่นภาษีเงินครึ่งปีโดยใช้แบบ ภงด.94 ซึ่งตัวภาษีเงินได้จ่ายครึ่งปีนี้ถือว่าเป็นภาษีจ่ายล่วงหน้าที่บุคคลจ่ายออกไปก่อน และสามารถนำไปหักจากภาษีเงินได้ของบุคคลตอนปลายปีได้
เงินได้ตามมาตรา 40 (5) – 40 (8) อธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
40 (5) – รายได้จากค่าเช่า
40 (6) – รายได้จากวิชาชีพอิสระ 6 อาชีพ ได้แก่ การประกอบโรคศิลปะ, นักกฎหมาย, วิศวะกร, สถาปนิก, นักบัญชี และช่างประณีตศิลป์
40 (7) – รายได้ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ
40 (8) – เงินได้อื่นๆที่ไม่เข้าข่ายเงินได้ตาม 40 (1) – 40 (7)
ตัวแปรภาษีที่คำนวณได้ นั่นคือบุคคลธรรมดาทุกๆคนจะต้องยื่นภาษีเงินได้ประจำปี ดังนั้นจะต้องมีการคำนวณภาษีว่าในปีนั้นๆจะต้องมีภาษีที่ต้องเสียเป็นจำนวนกี่บาท สูตรในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลเป็นดังต่อไปนี้
เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
ภาษีเงินได้ของบุคคล = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี
ดูรายละเอียดวิธีการคำนวณได้ที่ : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณอย่างไร
วิธีการคำนวณเงินคืนภาษีของบุคคล
ตามที่ได้อธิบายไปแล้วว่าหากเป็นกรณี ภาษีจ่ายล่วงหน้า > ภาษีที่คำนวณได้ เราจะมีสิทธิขอภาษีคืน ดังนั้นสูตรในการคำนวณเงินคืนภาษีจะเป็นดังต่อไปนี้
เงินคืนภาษี = ภาษีจ่ายล่วงหน้า – ภาษีที่คำนวณได้
ยกตัวอย่างเช่น นาย ก เป็น Freelance ทำงานโดยมีภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไปในระหว่างปีที่ 1,000 บาท และนาย ก ยื่น ภงด.94 เพื่อเสียภาษีครึ่งปีไปแล้วเป็นจำนวน 2,000 บาท ณ สิ้นปีนาย ก คำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลได้ที่ 2,500 บาท ถามว่านาย ก มีสิทธิขอเงินคืนภาษีเป็นจำนวนกี่บาท?
เงินคืนภาษี = ภาษีจ่ายล่วงหน้า – ภาษีที่คำนวณได้
ภาษีจ่ายล่วงหน้า = 1,000 + 2,000 = 3,000 บาท
ภาษีเงินได้ของบุคคล = 2,500 บาท
เงินคืนภาษี = 3,000 – 2,500 = 500 บาท
นาย ก มีสิทธิได้รับเงินคืนภาษีเป็นเงินจำนวน 500 บาท
วิธีการขอเงินคืนภาษีจากกรมสรรพากร
วิธีการขอคืนภาษีบุคคลธรรมดาที่ง่ายที่สุดคือการขอเงินคืนภาษีตอนที่ยื่นแบบภาษีประจำปี ซึ่งทั้งใน ภงด.90 (กรณีที่มีเงินได้หลายประเภท) และ ภงด.91 (กรณีที่มีเงินได้ 40 (1) ประเภทเดียว) จะมีส่วนที่ให้กรอก คำร้องขอคืนเงินภาษี อยู่แล้วในกรณีที่เราเสียภาษีล่วงหน้าเกินไปจากที่ต้องเสียจริง ยกตัวอย่างเช่น
ก็ให้กรอกจำนวนเงินที่จะขอคืนและเซ็นลงในเอกสารได้เลยในกรณีที่ยื่นภาษีแบบกระดาษ แต่หากยื่นภาษีในรูปแบบออนไลน์ก็สามารถติ๊กขอคืนภาษีในระบบได้เลย สรรพากรมีหน้าที่คืนภาษีให้ภายใน 3 เดือน หากได้รับคืนภาษีล่าช้าเรามีสิทธิได้รับเงินคืนภาษีพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือน
อีกวิธีในการขอคืนภาษีนั่นก็คือการกรอกแบบ ค.10 คำร้องขอคืนเงินภาษีอากร เซ็นเอกสารและนำไปยื่นที่สรรพากร
สามารถดาวน์โหลดตัวอย่างแบบฟอร์มได้ที่นี่ : ค.10 คำร้องขอคืนเงินภาษีอากร
วิธีการตรวจสอบเงินคืนภาษีจากสรรพากร
เราสามารถตรวจสอบสถานะเงินคืนภาษีได้ 3 วิธีดังนี้
- เว็บไซต์กรมสรรพากร เลือกเมนู E-Refund สอบถามการคืนภาษี ให้เลือกปีภาษีที่ต้องการค้นหา ใส่รายละเอียด เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน ระบบก็จะแสดงข้อมูลสถานะให้ย้อนหลัง 2 ปี
- ติดต่อสอบถามที่ RD Call Center 1161
- สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนา
สรุป
เงินคืนภาษีเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทุกคนที่ต้องเสียภาษี เนื่องจากในบางกรณีเราอาจมีการเสียภาษีไปก่อนล่วงหน้าแล้ว และเงินภาษีที่จ่ายไปล่วงหน้านั้นมากกว่าภาษีเงินได้ของบุคคลที่คำนวณได้ตอนสิ้นปี เราก็มีสิทธิได้รับเงินคืนภาษีจากสรรพากรได้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ
ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา
(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)
ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า