ภงด 94 คืออะไร เรามาทำความเข้าใจกันได้เลย

ภงด 94
สอนบัญชีภาษีฟรี

ภงด 94 เป็นแบบชำระภาษีบุคคลธรรมดารอบครึ่งปี ซึ่งตามกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าบุคคลใดที่มีเงินได้ตามมาตรา 40 (5) – 40 (8) มีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้ของบุคคลครึ่งปีโดยใช้แบบ ภงด 94 ในการนำส่ง

ภงด 94 คืออะไร?

ภงด 94 เป็นแบบชำระภาษีบุคคลธรรมดารอบครึ่งปี ซึ่งตามกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าบุคคลใดที่มีเงินได้ตามมาตรา 40 (5) – 40 (8) มีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้ของบุคคลครึ่งปีโดยใช้แบบ ภงด 94

เงินได้ตามมาตรา 40 (5) – 40 (8) อธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้

เงินได้ตามมาตรา 40 (5) คือ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ เช่น การให้เช่าบ้าน การให้เช่ารถยนต์ การให้เช่าคลังสินค้า เป็นต้น

เงินได้ตามมาตรา 40 (6) คือ เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ส่วนมากจะเป็นวิชาชีพที่ต้องได้ใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง ซึ่งแบ่งได้ออกเป็น 6 ประเภทดังนี้

  1. การประกอบโรคศิลปะ – เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตกรรม เภสัชกรรม กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ ผดุงครรภ์ ยกตัวอย่างการประกอบโรคศิลปะ เช่น
  • การเปิดคลินิกรักษาโรคทั่วไปให้แก่คนไข้
  • การเปิดคลินิกทันตกรรม
  • ออกไปตรวจรักษาทางการแพทย์ที่บ้านของคนไข้
  • ไปประจำที่โรงงาน เพื่อตรวจรักษาพนักงาน ตามช่วงเวลาที่ตกลงกัน
  • ทำงานตรวจรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล และแพทย์เป็นคนกำหนดค่าตรวจรักษาเองเป็นรายครั้ง
  • รับฝากครรภ์นอกโรงพยาบาล
  1. ทนายความ / นักกฎหมาย – ค่าที่ปรึกษาหรือค่าทนายความ คิดค่าบริการตามความยากง่ายของงาน หรือคิดค่าบริการเป็นรายครั้ง รายชั่วโมง รายคดี เป็นต้น
  2. วิศวกร – ค่าที่ปรึกษา คิดค่าบริการตามความยากง่ายของงาน หรือคิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมง รายโปรเจค เป็นต้น
  3. สถาปนิก – ค่าที่ปรึกษา ออกแบบ คิดค่าบริการตามความยากง่ายของงาน หรือคิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมง รายโปรเจค เป็นต้น
  4. บัญชี – ค่าที่ปรึกษา ค่าบริการ คิดค่าบริการตามความยากง่ายของงาน หรือคิดค่าบริการเป็นรายชั่วโมง รายเดือน เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น
  • ค่าทำบัญชี
  • ค่าตรวจสอบบัญชี
  • ค่าวางระบบบัญชี
  • ค่าบริการตรวจสอบภายใน
  1. ประณีตศิลป์ – เช่น งานปั้น งานวาดรูป งานหล่อ คิดราคาตามความยากง่าย ปริมาณงานเป็นต้น

เงินได้ตามมาตรา 40 (7) คือ ค่ารับเหมาที่มีการเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ เช่น การรับเหมาก่อสร้างทั้งหมด

เงินได้ตามมาตรา 40 (8) คือ เงินได้ประเภทอื่นๆที่ไม่เข้าข่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (1) – 40 (7)

ตัวอย่างแบบฟอร์ม ภงด 94 แสดงได้ดังนี้

ภงด 94 หน้า 1
ภงด 94 หน้า 2

ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ภงด 94

วิธีการคำนวณ ภงด 94

มาทบทวนการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลกันก่อน วิธีการคำนวณภาษีตอนสิ้นปีที่ต้องยื่นแบบ ภงด 90 ภงด 91 เป็นดังต่อไปนี้

เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน

ภาษีเงินได้ของบุคคล = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี

ในการคำนวณภาษีครึ่งปี ภงด 94 ทางฝั่งรายได้ ผู้เสียภาษีจะต้องนำเงินได้ตามมาตรา 40 (5) – 40 (8) ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกมารวมเป็นเงินได้พึงประเมิน

ในการหักค่าใช้จ่ายจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้ หรือแบบเหมาก็ได้ หากเลือกแบบเหมาการหักค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ สามารถสรุปได้ดังนี้

เงินได้ตามมาตรา 40 (5) เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ จะสามารถหักค่าใช้จ่ายตามแต่ละประเภททรัพย์สินดังนี้

  • บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ หักค่าใช้จ่าย 30%
  • ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร หักค่าใช้จ่าย 20%
  • ที่ดินที่มิได้ใช้ในการเกษตร หักค่าใช้จ่าย 15%
  • ยานพาหนะ หักค่าใช้จ่าย 30%
  • ทรัพย์สินอื่น หักค่าใช้จ่าย 10%

เงินได้ตามมาตรา 40 (6) เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ จะสามารถหักค่าใช้จ่ายตามแต่ละประเภทของอาชีพดังนี้

  • ประกอบโรคศิลปะ หักค่าใช้จ่าย 60%
  • วิชาชีพอื่นๆ หักค่าใช้จ่าย 30%

เงินได้ตามมาตรา 40 (7) ค่ารับเหมาที่มีการเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาที่ 60%

เงินได้ตามมาตรา 40 (8) เงินได้อื่นๆ หักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาที่ 40% และ 60%

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม : การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้ตามมาตรา 40 (8)

ในการหักค่าลดหย่อนบางรายการจะสามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้กึ่งหนึ่งเพราะเป็นภาษีเงินได้ครึ่งปี บางรายการสามารถหักค่าลดหย่อนได้เต็มจำนวนหากมีการจ่ายจริง ตัวอย่างค่าลดหย่อนที่หักได้กึ่งหนึ่งเช่น

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว ปลายปีหักได้ 60,000 บาท ครึ่งปีหักได้ 30,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนบิดามารดา ปลายปีหักได้ 30,000 บาท ครึ่งปีหักได้ 15,000 บาท เป็นต้น

หลักจากนั้นก็จะได้เงินได้สุทธิ ครึ่งปี เพื่อนำมาคำนวณหา ภาษีเงินได้ที่จะนำส่งใน ภงด 94 ต่อไป

ยื่น ภงด 94 แล้วจะต้องยื่นเสียภาษีสิ้นปีอีกหรือไม่

หลายๆคนมักเข้าใจผิดว่าหากยื่นภาษีครึ่งปี ภงด.94 แล้วไม่ต้องยื่นภาษีตอนปลายปีอีก แต่เป็นสิ่งที่ผิดนะครับ ถึงแม้ว่าเราจะยื่นเสียภาษีครึ่งปี ภงด 94 แล้ว ก็จะต้องยื่นเสียภาษีปลายปี ภงด 90 ภงด 91 อยู่ดี ซึ่งเราสามารถนำยอดที่เสียภาษีไปแล้วใน ภงด 94 มาหักออกได้ เนื่องจากเป็นภาษีล่วงหน้าที่เราจ่ายออกไปก่อน

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก มีภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ 1,000 บาท และได้เสียภาษีครึ่งปี ภงด 94 ไปแล้วจำนวน 2,000 บาท ตอนปลายปีนาย ก คำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลได้ที่ 6,000 บาท นาย ก จะต้องเสียภาษีปลายปีเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม = ภาษีเงินได้ของบุคคลปลายปี – ภาษีจ่ายล่วงหน้า

ภาษีเงินได้ของบุคคลปลายปี = 6,000 บาท

ภาษีจ่ายล่วงหน้า = 1,000 บาท + 2,000 บาท = 3,000 บาท

ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม = 6,000 บาท – 3,000 บาท = 3,000 บาท

วิธีการยื่น ภงด 94

ในปัจจุบันทุกท่านสามารถยื่น ภงด 94 ได้ทั้งในรูปแบบกระดาษและผ่านระบบออนไลน์ หากยื่นแบบกระดาษก็สามารถกรอกแบบฟอร์ม ภงด.94 และเอาไปยื่นที่สรรพากรพื้นที่ตามที่อยู่ได้เลย

อีกรูปแบบคือสามารถยื่น ผ่านระบบออนไลน์ได้แล้วที่ www.rd.go.th ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถยื่นแบบและชำระภาษีได้สะดวกสบายขึ้นมาก และยังช่วยในเรื่องของการคำนวณภาษีเงินได้ครึ่งปีอีกด้วย เนื่องจากการคำนวณนั้นจะมาจากระบบช่วยให้การคำนวณภาษีนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง

สรุป

ภงด 94 เป็นแบบชำระภาษีบุคคลธรรมดารอบครึ่งปี จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (5) – 40 (8) จะต้องยื่นแบบ และนำส่งภาษีล่วงหน้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกๆท่านนะครับ

ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)

ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า