สินทรัพย์คืออะไร?

สินทรัพย์คืออะไร
สอนบัญชีภาษีฟรี

สินทรัพย์ คือ ทรัพย์สินที่กิจการเป็นเจ้าของและมีสิทธิในการครอบครอง ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน นอกจากนี้ทรัพย์สินต้องก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตให้แก่กิจการด้วย เรามาทำความเข้าใจกับสินทรัพย์กัน

ความหมายของสินทรัพย์ตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน

ในบทความนี้จะอธิบายความหมายของสินทรัพย์ตาม มาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) ซึ่งเป็นมาตรฐานบัญชีสำหรับกิจการขนาดเล็ก (SME ที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท) ให้คำนิยามของสินทรัพย์เอาไว้ว่า

สินทรัพย์ คือ ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ และเป็นผลจากเหตุการณ์ในอดีต การรับรู้รายการสินทรัพย์ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ทุกข้อดังนี้

  1. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต
  2. รายการนั้นมีราคาทุนหรือมูลค่าที่วัดได้อย่างน่าเชื่อถือ

องค์ประกอบของสินทรัพย์แบบเข้าใจง่าย

จะเห็นได้ว่าตามนิยามของ มาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) สินทรัพย์จะมีองค์ประกอบหลักๆ 3 ส่วนดังนี้

  1. สินทรัพย์ต้องอยู่ในการควบคุมของกิจการ

หมายความว่า กิจการเป็นผู้ควบคุมสินทรัพย์ดังกล่าว กิจการสามารถนำสินทรัพย์ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆและเมื่อใดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า กิจการก็มีสิทธิในการนำวัตถุดิบดังกล่าวไปใช้ในการผลิต เนื่องจากกิจการเป็นผู้ควบคุมวัตถุดิบนั้น

  1. สินทรัพย์ต้องก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตแก่กิจการ

หมายความว่า การที่กิจการครอบครองสินทรัพย์นั้นทำให้กิจการได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น เช่น ลูกหนี้การค้า กิจการสามารถเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้แปลงเป็นเงินสดได้ หรือ เครื่องจักร กิจการสามารถนำเครื่องจักรไปใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อขายได้ เป็นต้น

  1. สินทรัพย์ต้องมีราคาทุนที่ซื้อ วัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ

หมายความว่า ทรัพย์สินต่างๆที่จะถูกบันทึกในงบการเงิน ต้องมีราคาทุนที่น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบราคาดังกล่าวได้ เช่น ลูกหนี้การค้า เป็นสินทรัพย์ได้เพราะกิจการมีใบแจ้งหนี้และทราบมูลค่าที่จะจัดเก็บเงินกับลูกหนี้จากการขายและให้บริการ เป็นต้น

เมื่อเข้าข่ายองค์ประกอบข้างต้น เราจึงสามารถถือรายการดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ได้

โครงสร้างของสินทรัพย์ในงบการเงิน

ในมุมองของงบการเงินโครงสร้างของสินทรัพย์จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนดังนี้

  1. สินทรัพย์หมุนเวียน
  2. สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

สินทรัพย์หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ที่กิจการคาดดว่าจะได้รับประโยชน์จากสินทรัพย์นั้นภายใน 1 ปี ยกตัวอย่างเช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น เป็นต้น

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน คือ สินทรัพย์ที่กิจการคาดดว่าจะได้รับประโยชน์จากสินทรัพย์นั้นมากกว่า 1 ปี ยกตัวอย่างเช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์, สินทรัพย์ไม่มีตัวตน, สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่น เป็นต้น

สินทรัพย์หมุนเวียน

สินทรัพย์หมุนเวียนแต่ละตัวในงบการเงิน สามารถอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมได้ดังนี้

เงินสด / เงินฝากธนาคาร คือ เงินสดที่เก็บเอาไว้ที่บริษัท หรือ เงินที่ฝากเอาไว้ที่ธนาคาร ซึ่งกิจการสามารถใช้ เงินสด / เงินฝากธนาคาร เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการต่างๆได้ทันที จึงถือว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน

ลูกหนี้การค้า คือ สิทธิที่กิจการจะได้รับเงินสดจากการขายสินค้าหรือให้บริการเมื่อถึงกำหนดชำระแล้วโดยปกติแล้วกิจการมักจะให้เครดิตเทอมแก่ลูกหนี้ประมาณไม่เกิน 3 เดือน ดังนั้นภายใน 3 เดือน กิจการก็จะสามารถเรียกชำระเงินจากลูกหนี้ได้ จึงถือว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน

สินค้าคงเหลือ สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ประเภทดังต่อไปนี้

  1. สินค้าสำเร็จรูป – สินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อขายตามลักษณะของธุรกิจ
  2. งานระหว่างทำ – สินทรัพย์ที่อยู่ในขบวนการผลิตเพื่อให้เป็นสินทรัพย์สำเร็จรูปเพื่อขาย
  3. วัตถุดิบ – สินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ในขบวนการผลิต

สินค้าคงเหลือโดยมากแล้วระยะเวลาในการขายและเปลี่ยนให้เป็นลูกหนี้ และเงินกลับเข้ามาในกิจการมักจะไม่เกิน 1 ปี จึงถือว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน

สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น คือ สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆที่ไม่ใช่ เงินสด / เงินฝากธนาคาร, ลูกหนี้การค้า, สินค้าคงเหลือ เช่น เงินมัดจำค่าสินค้า เป็นต้น

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนแต่ละตัวในงบการเงิน สามารถอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมได้ดังนี้

ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ – สินทรัพย์รายการนี้จะมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า สินทรัพย์ถาวร หลักการสำคัญคือสามารถจับต้องได้และมีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปี สามารถแบ่งได้ออกเป็นอีก 3 ประเภท ดังนี้

  1. ที่ดิน คือ ที่ดินที่กิจการมีสิทธิครอบครองและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ดินจะไม่มีการเสื่อมค่าและกิจการสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ตลอดไป จึงถือว่าเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
  2. อาคาร คือ อาคารที่กิจการมีสิทธิครอบครองและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยปกติแล้วอาคารจะมีอายุการให้ประโยชน์ประมาณ 20 – 40 ปี กิจการสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยาวนาน จึงถือว่าเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
  3. อุปกรณ์ คือ สินทรัพย์ถาวรอื่น เช่น เครื่องจักร ยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เป็นต้น

สินทรัพย์ไม่มีตัวตน คือ สินทรัพย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่สามารถให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจแก่กิจการได้ และมีอายุมากกว่า 1 ปี ยกตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ จึงถือว่าเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่น คือ สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ไม่ใช่ ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ และ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น เงินมัดจำ เงินประกันค่าเช่า เป็นต้น

สรุป

สินทรัพย์ คือ ทรัพย์สินที่กิจการเป็นเจ้าของและมีสิทธิในการครอบครอง ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน นอกจากนี้ทรัพย์สินต้องก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตให้แก่กิจการด้วย สำหรับโครงสร้างของสินทรัพย์ตามงบการเงินจะประกอบด้วย สินทรัพย์หมุนเวียน และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)

ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า