ใบกำกับภาษี คือ เอกสารหลักฐานที่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มออกให้แก่ลูกค้าเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขายสินค้าและให้บริการ ในบทความนี้เรามาทำความเข้าใจในทุกๆแง่มุมของใบกำกับภาษีกัน
มีความรู้เรื่องใบกำกับภาษีแล้ว ท่านใดสนใจจดทะเบียนบริษัทด้วยตัวเองเชิญทางนี้ : จดทะเบียนบริษัทออนไลน์
ท่านใดต้องการบริการรับทำบัญชี ทางเรามีโปรแกรมบัญชีออนไลน์ให้ใช้ฟรี สามารถออกเอกสารหน้าตาสวยงามผ่านโปรแกรมได้ ดูรายละเอียดที่นี่ : รับทำบัญชี
ประวัติผู้เขียน / ผู้สอน
- ปริญญาตรีบัญชี ธรรมศาสตร์
- ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเงิน NIDA
- ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA)
- ประกาศนียบัตรการรายงานทางการเงินไทย (DipTFR)
- Audit Manager ที่ EY (ประสบการณ์ 8 ปี ใน Big4)
- ดูใบประกาศทางวิชาชีพ
- ดูรีวิวจากลูกค้า
- About me
ใครเป็นผู้ที่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี
หลังจากที่ทราบแล้วว่าใบกำกับภาษี คืออะไร ในส่วนนี้เรามาดูกันว่าใครเป็นผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) กับสรรพากรเป็นผู้ที่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขายสินค้าและให้บริการ ผู้ประกอบการในที่นี้จะรวมถึงบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) หรือ นิติบุคคลที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat)
ใครที่ยังสงสัยว่าภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไรทำไมต้องจดทะเบียนผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ก่อนครับ : ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร
เรื่องที่ควรระวังที่ผมเคยเห็นมาในหลายๆกรณีคือมีผู้ประกอบการหลายๆท่านที่ไม่เข้าใจ ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ดันไปออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้าเนื่องจากลูกค้าร้องขอ อันนี้จริงๆแล้วไม่สามารถทำได้นะครับ สำหรับผู้ประกอบที่ไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีแต่ดันไปออกใบกำกับภาษีมีโทษดังนี้
ความรับผิดทางแพ่ง
1.เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีใบเพิ่มหนี้หรือลดหนี้(มาตรา89(6))
2.เสียเงินเพิ่มร้อยละ1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินที่ต้องเสียภาษี (มาตรา89/1) นอกจากนั้น จะต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่แสดงในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้หรือ ลดหนี้(มาตรา86/3)
โทษทางอาญา
ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3เดือนถึง 7ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 200,000 บาท (มาตรา 90/4(3))
เห็นโทษแบบนี้แล้ว ดังนั้นหากคุณไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) อย่าไปออกใบกำกับภาษีกันนะครับ
ผู้ประกอบการจะต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อไหร่
ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้เราจะต้องทำความเข้าในใจเรื่องจุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax point) กันก่อน โดยทั่วไปหากเป็นการขายสินค้าจุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกิดขึ้นเมื่อได้ส่งสินค้าไปให้แก่ลูกค้า หากเป็นการให้บริการแก่ลูกค้าจุดความรับผิดจะเกิดขึ้นตอนได้รับชำระเงินจากลูกค้า
สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องจุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax point) กันได้ในบทความนี้ : ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร
ดังนั้นจากคำถามที่ว่าผู้ประกอบการจะต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อไหร่ คำตอบก็คือเมื่อจุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax point) ได้เกิดขึ้นแล้วนั่นเอง ดังนั้นในกรณีทั่วไปการขายสินค้าจะต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อส่งของให้แก่ลูกค้า ส่วนการให้บริการจะออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้าเมื่อได้รับชำระเงินตาม Tax point ที่เกิดขึ้น
ประเภทของใบกำกับภาษี คือ
ใบกำกับภาษีนั้นมี 2 ประเภทคือใบกำกับภาษีเต็มรูปและใบกำกับภาษีอย่างย่อ
- ใบกำกับภาษีเต็มรูป เป็นใบกำกับภาษีที่ผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีออกให้แก่ลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขายสินค้าและให้บริการ ซึ่งเมื่อผู้ซื้อได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปแล้วสามารถนำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปลงบัญชีบันทึกค่าใช้จ่าย และภาษีซื้อได้
ภาษีซื้อดังกล่าวสามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในแต่ละเดือนในการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากรได้
- ใบกำกับภาษีอย่างย่อ เป็นใบกำกับภาษีที่ผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีออกให้แก่ลูกค้าอย่างง่าย โดยไม่ต้องมีข้อมูลครบถ้วนเหมือนกับใบกำกับภาษีเต็มรูป ผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้คือผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการให้แก่ลูกค้ารายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร เป็นต้น
ใบกำกับภาษีเต็มรูป คือ
ตัวอย่างใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบเป็นดังต่อไปนี้
- คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด – ในส่วนนี้ใบกำกับภาษีจะคู่กับใบอื่นๆในใบเดียวกันได้ เช่น ในกรณีธุรกิจขายสินค้า จุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax point) จะเกิดขึ้นเมื่อส่งของเอกสารที่ออกจะเป็น “ใบส่งสินค้า / ใบกำกับภาษี” หรือในกรณีธุรกิจให้บริการ จุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax point) จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทได้รับชำระเงิน ดังนั้นเอกสารที่ออกจะเป็น “ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี”
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี – ต้องเป็นชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ตามใบ ภพ.20
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี – วันที่ในใบกำกับภาษีจะเป็นไปตามจุดความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax point)
ใบกำกับภาษีอย่างย่อ คือ
ตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นดังต่อไปนี้
- คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” ต้องเห็นเด่นชัด
- ชื่อหรือชื่อย่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
- หมายเลขลำดับของใบกำกับและหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
- ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการโดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
ใบกำกับภาษีเอาไปใช้ทำอะไร
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยปกติแล้วนั้นจะต้องมีการยื่นแบบ ภพ.30 เป็นประจำทุกเดือน ดังนั้นใบกำกับภาษีที่ออกต้องถูกรวบรวมสำเนาใบกำกับภาษีเพื่อนำเป็นหลักฐานในการสรุปยอดขายในแบบ ภพ.30 ส่วนใบกำกับภาษีซื้อต้นฉบับที่ได้รับมานั้น ใบกำกับภาษีที่ได้รับต้องถูกรวบรวมเพื่อนำเป็นหลักฐานในการสรุปยอดซื้อในแบบ ภพ.30 นั่นเอง
ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการยื่นแบบ ภพ.30 : การยื่นภาษีมูลค่าพิ่ม มีขั้นตอนอย่างไร
ใบกำกับภาษีซื้อต้องนำมาใช้ภายใน 6 เดือนนับอย่างไร?
เวลาที่เราได้รับใบกำกับภาษีซื้อมาจากการซื้อสินค้า/บริการ ตามกฎหมายกำหนดให้กิจการสามารถนำภาษีซื้อดังกล่าวไปเคลมภาษีในเดือนนั้น แต่ไม่เกิน 6 เดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี
เราลองมาดูตัวอย่างวิธีการนำเดือนกัน
สมมติบริษัท A ได้รับใบกำกับภาษีซื้อมาในเดือน มค.67 นับไปอีก 6 เดือน กพ.66 – กค.66 ดังนั้นเดือนสุดท้ายที่สามารถใช้ภาษีซื้อได้คือเดือน กค.66 ซึ่งจะยื่นแบบภาษีภายในวัน 15 สค.66 นั่นเอง
สรุปใบกำกับภาษี คือ
ใบกำกับภาษีเป็นเอกสารหลักฐานที่สำคัญมากในการยืนยันยอดขาย ภาษีขาย ยอดซื้อ ภาษีซื้อ ดังนั้นใบกำกับภาษีจึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษาและทำให้ถูกต้อง หากเราทำไม่ถูกต้องอาจทำให้ใบกำกับภาษีเป็นภาษีซื้อต้องห้ามที่ลูกค้าเราไม่สามารถนำไปใช้ได้
ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา
(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)
ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้าช่วยกันแชร์บทความให้หน่อยครับ