ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีประเภทหนึ่งที่จัดเก็บจากธุรกิจที่เข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด ภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นมาแทนที่ภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก และเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2535
กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ผู้ประกอบธุรกิจทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนดจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ธุรกิจดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
- ธุรกิจธนาคาร
- ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
- ธุรกิจประกันชีวิต
- ธุรกิจโรงรับจำนำ
- การประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทมีการปล่อยเงินให้กู้ยืมแก่บริษัทอื่นๆ หรือปล่อยเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ ถือว่าเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ หรือหากทำธุรกิจเช่น แลกเปลี่ยนเงินตรา ซื้อหรือขายตั๋วเงิน เป็นต้น
- การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร หมายถึง การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากกรมสรรพากรได้ที่นี่ : การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
กิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
จากหัวข้อก่อนเราทำความเข้าใจธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกันไปแล้ว อย่างไรก็ตามจะมีข้อยกเว้นในบางธุรกิจที่เข้าข่ายหัวข้อดังกล่าว แต่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์สรรพากรดังนี้ : กิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ฐานภาษีและอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ
ฐานภาษีของภาษีธุรกิจเฉพาะคือ “รายรับ” กล่าวคือหากผู้ประกอบการมีรายรับจากการประกอบธุรกิจ ก็จะต้องนำรายรับนั้นมาเป็นฐานภาษีในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
คำนิยามของรายรับ ตามกฎหมาย คือ เงิน ทรัพย์สิน หรือ ค่าตอบแทนอื่นใดๆอันมีมูลค่าที่ผู้ประกอบการได้รับเนื่องจากการประกอบธุรกิจ
อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสามารถสรุปได้ดังนี้
ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
ฐานภาษี : ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆจากการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใดๆ
: กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา การออกตั๋วเงินหรือการส่งเงินไปต่างประเทศ
อัตราภาษี : ร้อยละ 3
ธุรกิจรับประกันชีวิต
ฐานภาษี : ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ
อัตราภาษี : ร้อยละ 2.5
ธุรกิจโรงรับจำนำ
ฐานภาษี : เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทนที่ได้รับจากการขายของที่หลุดจำนำ
อัตราภาษี : ร้อยละ 2.5
การค้าอสังหาริมทรัพย์
ฐานภาษี : รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ
อัตราภาษี : ร้อยละ 0.1
การซื้อ / ขายคืนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก กลต.
ฐานภาษี : กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการขายคืนหลักทรัพย์
อัตราภาษี : ร้อยละ 3
ธุรกิจแฟ็กเตอริง
ฐานภาษี : ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ
อัตราภาษี : ร้อยละ 3
หมายเหตุ : อัตราภาษีข้างต้นนี้ยังไม่ได้รวมภาษีท้องถิ่นอีก 10% ของภาษีธุรกิจเฉพาะที่จะต้องเสีย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยรับจากการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จำนวน 100% จะต้องเสียภาษีรวมดังนี้
ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3% = 100 x 3% = 3 บาท
ภาษีท้องถิ่น 10% = 3 x 10% = 0.3 บาท
รวมภาษีที่ต้องเสีย 3.3 บาท สรุปแล้วอัตราภาษีโดยรวมนั้นจะอยู่ที่ 3.3%
กรณีศึกษาการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะที่พบบ่อย
ธุรกิจโดยทั่วๆไปจะไม่เข้าข่ายเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ อย่างไรก็ตามจะมีอยู่ 1 รายการที่บริษัททั่วไปมักต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ผู้ประกอบการไม่รู้ตัว นั่นคือ การประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
บริษัททั่วๆไปในงบการเงินมักมีบัญชี เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ หรือ เงินให้กู้ยืมแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งอาจะเกิดขึ้นได้จากหลายกรณี อาทิเช่น
- บริษัทได้มีเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกันจริง
- บริษัทได้จดทะเบียนโดยไม่ได้ใส่เงินลงทุนเข้าไปจริง ทำให้มีบัญชีเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ เข้ามาในงบการเงิน
- ในกรณีที่เอกสารประกอบการบันทึกบัญชีนั้นไม่สัมพันธ์กันกับยอดตาม Bank statement ของบริษัท ก็อาจทำให้มีบัญชีเงินให้กู้ยืมแก่กรรมการโผล่เข้ามาได้
ดังนั้นหากในงบการเงินของบริษัทมีบัญชี เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ หรือ เงินให้กู้ยืมแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน โผล่เข้ามาในงบการเงิน ในทางภาษีนั้นสรรพากรจะกำหนดให้บริษัทต้องคิดดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืมดังกล่าว โดยให้คิดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ หากไม่มีการคิดดอกเบี้ยในทางภาษีเจ้าหน้าที่สรรพากรมีสิทธิประเมินดอกเบี้ยรับขึ้นมา ให้สมเหตุสมผล เพื่อเสียภาษี
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A ให้เงินกู้ยืมแก่กรรมการเป็นจำนวน 20,000 บาท โดยมีการคิดดอกเบี้ยที่ 2% ต่อปี ดังนั้น รายได้ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 400 บาทต่อปี (20,000 x 2%) ดังนั้น ภาษีธุรกิจเฉพาะ (รวมภาษีท้องถิ่น 10%) จะอยู่ที่ 13.2 บาท (400 x 3.3%)
การยื่นแบบแสดงรายการ
ในการยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะ ผู้ประกอบการจะต้องยื่นแบบภาษี ภธ.40 และต้องนำส่งภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป แต่หากยื่นภาษีในรูปแบบออนไลน์จะสามารถยึดระยะเวลาการยื่นแบบได้ออกไปอีก 8 วัน ตัวอย่างแบบ ภธ.40 จะเป็นดังต่อไปนี้
ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม : ภธ.40
ตัวการกรอกแบบ ภธ.40 สำหรับธุรกิจที่มีรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จากตัวอย่างข้างต้นจะเป็นดังนี้
- ให้กรอกรายละเอียดชื่อ ที่อยู่ เลขทะเบียนของบริษัทให้ครบถ้วน
- ให้ใส่รายละเอียดว่าเป็นการยื่นภาษีเดือนใด ปีใด
- กรอกรายละเอียดในช่อง 7 การประกอบกิจการโดยปกติ เยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ในช่องจำนวนเงินรายรับ ให้ใส่ยอดดอกเบี้ยรับลงไปจำนวน 400 บาท ส่วนในช่องจำนวนเงินภาษี ให้กรอกลงไปจำนวน 12 บาท (3% ของจำนวนดอกเบี้ยรับ)
- ด้านล่างข้อ 12 ให้รวมยอดภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยการกรอกยอด 12 บาท ซึ่งรวมมาจากยอดด้านบน
- ข้อ 15 ให้กรอกยอดรวมหลังเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม (หากยื่นภาษีล่าช้า)
- ข้อ 16 รายได้ส่วนท้องถิ่นให้กรอกยอด 2 บาท (10% ของยอดภาษี 12 x 10%)
- ข้อ 17 ให้กรอกยอดรวมภาษีทั้งสิ้นที่ 2 บาท (12 บาท + 1.2 บาท)
สรุป
ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีประเภทหนึ่งที่จัดเก็บจากธุรกิจที่เข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
- ธุรกิจธนาคาร
- ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
- ธุรกิจประกันชีวิต
- ธุรกิจโรงรับจำนำ
- การประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
- การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านนะครับ
ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา
(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)
ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า