นักบัญชี อาชีพนี้มีเส้นทางอย่างไร?

นักบัญชี
สอนบัญชีภาษีฟรี

นักบัญชี เป็นอาชีพที่เป็นที่นิยม เนื่องจาก สามารถหางานได้ง่ายเพราะทุกๆนิติบุคคลจะต้องจัดให้มีการทำบัญชีตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องใช้นักบัญชีเป็นผู้ดำเนินการให้ นอกจากนี้คนที่ไม่ได้จบบัญชีมาจะไม่สามารถทำอาชีพนี้ได้เพราะต้องใช้ความรู้เฉพาะด้านที่คนทั่วไปไม่สามารถทำได้

ความจำเป็นของนักบัญชี

ในปี 2565 ประเทศไทยจำนวนนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนสามัญ / ห้างหุ้นส่วนจำกัด / บริษัทจำกัด) ทั้งหมดประมาณ 8 แสนราย ซึ่งตามกฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าทุกๆนิติบุคคลมีหน้าที่จัดทำบัญชี และต้องนำส่งงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ในกระบวนการจัดทำบัญชี และการนำส่งงบการเงินนั้นจะต้องมีนักบัญชีหลักที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือ ผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี ผู้ทำบัญชีเป็นคนที่นำเอกสารของนิติบุคคลมาบันทึกบัญชี นำส่งภาษี และจัดเก็บเอกสารให้เรียบร้อย ส่วนผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินว่าถูกต้องหรือไม่ และออกหน้ารายงานผู้สอบบัญชี ก่อนที่นิติบุคคลจะเอางบการเงินไปนำส่งที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร

จะเห็นได้ว่าจำนวนนิติบุคคลในประเทศไทย 8 แสนราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทุกๆบริษัทจะต้องมีผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชี ตามกฎหมายจึงทำให้วิชาชีพนักบัญชีนี้มีความจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

เส้นทางอาชีพของนักบัญชี

สำหรับเส้นทางของอาชีพนักบัญชีนั้นสามารถไปได้ในหลากหลายช่องทางทั้งการทำงานในบริษัท หรือ การทำงานบัญชีเป็นวิชาชีพอิสระก็ได้ เช่นเดียวกัน

หากทำงานในบริษัทก็จะสามารถเป็นได้ตั้งแต่นักบัญชีรุ่นเด็ก นักบัญชีอาวุโส ผู้จัดการบัญชี ไปจนถึง CFO (Chief Financial Officer) สำหรับงานตอนเป็นนักบัญชีรุ่นเด็ก นักบัญชีอาวุโส ก็จะมีตำแหน่งตั้งแต่ พนักงานบัญชีลูกหนี้ พนักงานบัญชีเจ้าหนี้ พนักงานบัญชี GL พนักงานบัญชีสินทรัพย์ถาวร พนักงานบัญชีต้นทุน  เป็นต้น

หากไม่ได้ทำงานในบริษัท นักบัญชีก็สามารถรับงานทำบัญชีอิสระให้แก่บริษัทต่างๆได้

สำหรับเส้นทางอาชีพของนักบัญชี หากแบ่งตามลักษณะของงาน สามารถแบ่งได้ออกเป็น 5 ส่วนหลักๆดังนี้

  1. ผู้สอบบัญชี
  2. ผู้ทำบัญชี
  3. ผู้ตรวจสอบภายใน
  4. ที่ปรึกษาทางด้านภาษีอากร
  5. ที่ปรึกษาทางด้านวางระบบบัญชี

ผู้สอบบัญชี

ผู้สอบบัญชีถ้าเทียบแล้วจะเป็นจุดสูงสุดของนักบัญชี เนื่องจากงบการเงินของทุกๆนิติบุคคลจะต้องถูกตรวจสอบและเซ็นรับรองงบโดยผู้สอบบัญชี ก่อนที่นิติบุคคลจะนำงบการเงินไปยื่นที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือกรมสรรพากรได้ ดังนั้นอาชีพผู้สอบบัญชีจึงเป็นที่ต้องการมากเพราะจำนวนนิติบุคคลในประเทศไทยนั้นมีถึง 8 แสนราย ถ้าเทียบกันแล้วอาชีพผู้สอบบัญชีรายได้ก็จะไม่แพ้วิชาชีพอิสระอื่น เช่น หมอ สถาปนิก เป็นต้น

สำหรับความสำคัญของวิชาชีพนี้คือผู้สอบบัญชีจะแสดงความเห็นให้ความเชื่อมั่นต่องบการเงิน แก่ผู้ที่จะนำงบการเงินนี้ไปใช้งานในด้านต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละคนได้

เนื่องจากการเป็นผู้สอบบัญชีถือว่าเป็นวิชาชีพที่ดีที่สุดของนักบัญชี ผู้สอบบัญชีจึงต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากสภาวิชาชีพบัญชี โดยผู้สอบบัญชีจะต้องเก็บชั่วโมงการทำงานอย่างน้อย 3,000 ชั่วโมง และ 3 ปี และจะต้องผ่านการทดสอบหลากหลายวิชาตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด ซึ่งก็ต้องบอกว่าข้อสอบนั้นยากมาก ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงจึงจะสามารถผ่านการทดสอบได้

อาชีพผู้สอบบัญชีนั้นสามารถทำได้ทั้งในรูปแบบขององค์กรที่เป็นบริษัทรับตรวจสอบบัญชี หรือเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีอิสระในนามบุคคลธรรมดาก็ได้ หากเป็นผู้สอบบัญชีในสำนักงานสอบบัญชีก็มีตำแหน่งที่หลากหลาย เช่น Junior / Senior / Audit manager / Senior Audit Manager / Partner (ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร) เป็นต้น

ผู้ทำบัญชี

ผู้ทำบัญชีจะเป็นอาชีพของนักบัญชีส่วนใหญ่ ผู้ทำบัญชีจะทำหน้าที่รวบรวมเอกสารต่างๆของบริษัทไปทำการบันทึกบัญชีในรูปแบบ Debit Credit และจัดทำรายงานต่างๆเพื่อให้ผู้บริหาร และผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบ รายงานยกตัวอย่างเช่น งบทดลอง บัญชีแยกประเภท รายละเอียดประกอบงบการเงิน รายงานต่างๆนำส่งผู้บริหาร

นอกจากในเรื่องของการทำบัญชีแล้ว ผู้ทำบัญชียังมีหน้าที่นำส่งภาษีให้แก่กิจการด้วย โดยยอดภาษีที่ต้องนำส่งในแต่ละเดือนนั้นจะมาจากตัวเลขการบันทึกบัญชี โดยผู้ทำบัญชีมีหน้าที่ตรวจสอบว่าภาษีที่กิจการนำส่งนั้นถูกต้องตรงตามเอกสารหรือไม่

อาชีพผู้ทำบัญชีนั้นสามารถทำได้ทั้งในรูปแบบของเป็นพนักงานบัญชีในองค์กร หรือเป็นผู้ทำบัญชีอิสระในนามบุคคลธรรมดาก็ได้ หากเป็นพนักงานบัญชีในองค์กรก็มีตำแหน่งที่หลากหลาย เช่น พนักงานบัญชีลูกหนี้ พนักงานบัญชีเจ้าหนี้ พนักงานบัญชี GL พนักงานบัญชีสินทรัพย์ถาวร พนักงานบัญชีต้นทุน  เป็นต้น

ผู้ตรวจสอบภายใน

อาชีพผู้ตรวจสอบภายในของนักบัญชีจะเน้นดูขบวนการและขั้นตอนในการทำงานภายในของแต่ละองค์กรว่ามีจุดอ่อน จุดที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือจุดที่อาจทำให้เกิดการรั่วไหล หรือไม่ และผู้ตรวจสอบภายในจะเป็นผู้ปรับระบบการทำงานขององค์กรให้เข้าที่เข้าทาง ให้มีจุดรั่วไหลน้อย และช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ระบบงานหลักๆที่ผู้ตรวจสอบภายในจะเข้าไปดูจะมีดังนี้

  1. ระบบจัดซื้อ
  2. ระบบจ่ายชำระเงิน
  3. ระบบขาย
  4. ระบบรับชำระเงิน
  5. ระบบต้นทุน
  6. ระบบเงินเดือน
  7. ระบบสินทรัพย์ถาวร
  8. ระบบการปิดบัญชี

ในปัจจุบันอาชีพผู้ตรวจสอบภายใน ยังไม่ได้มีการออกเป็นใบประกอบวิชาชีพในประเทศไทย เหมือนของผู้สอบบัญชี ดังนั้นหากใครต้องการมีใบประกอบวิชาชีพตรวจสอบภายในต้องไปสอบเป็น CIA ของต่างประเทศแทน

อาชีพผู้ตรวจสอบภายในนั้นสามารถทำได้ทั้งในรูปแบบขององค์กรที่เป็นบริษัทรับตรวจสอบภายใน หรือเป็นผู้ตรวจสอบภายในอิสระในนามบุคคลธรรมดาก็ได้ หากเป็นผู้ตรวจสอบภายในในสำนักงานก็มีตำแหน่งที่หลากหลาย เช่น Junior / Senior / Manager / Senior Manager / Partner (ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร) เป็นต้น

ที่ปรึกษาทางด้านภาษีอากร

ที่ปรึกษาทางด้านภาษีอากร หรือ Tax Consulting ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่นักบัญชีสามารถทำได้ โดยนักบัญชีท่านใดต้องการทำด้านนี้จะต้องมีความรู้ทางด้านภาษีอากรเป็นอย่างดี โดยงานก็จะมีตั้งแต่ การเป็นที่ปรึกษาทางด้านภาษีเป็นกรณีตามที่ลูกค้าต้องการ, การจัดทำ/ตรวจสอบแบบ ภงด.50 (ภาษีของนิติบุคคล) ว่าถูกต้องก่อนนำส่ง, การช่วยลูกค้าวางแผนภาษีอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

ความต้องการด้านที่ปรึกษาภาษีอากร หรือ Tax Consulting ส่วนใหญ่แล้วจะต้องการโดยบริษัทใหญ่ๆที่ต้องการการวางแผนภาษีอย่างเป็นระบบ หรือต้องการให้ช่วยมาสอบทานเรื่องภาษีต่างๆของทั้งองค์กรว่าทำถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นลักษณะงานของนักบัญชีประเภทนี้จะทำอยู่ในสำนักงานที่ปรึกษาภาษี จะไม่ค่อยเห็นในรูปแบบบุคคลธรรมดา

ที่ปรึกษาทางด้านวางระบบบัญชี

ในองค์กรใหญ่ๆ ระบบบัญชีจะมีความสำคัญมาก เพราะระบบบัญชีจะเกี่ยวข้องกับทุกๆขั้นตอนการทำงานขององค์กรตั้งแต่ ระบบจัดซื้อ ระบบจ่ายชำระเงิน ระบบขาย ระบบรับชำระเงิน ระบบต้นทุน ระบบเงินเดือน ระบบสินทรัพย์ถาวร ระบบการปิดบัญชี เป็นต้น

การวางระบบัญชีเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมาก จึงต้องใช้นักบัญชีที่มีประสบการณ์ มีความรู้แน่นทั้งทางด้านบัญชี การทำงานของลูกค้า และทั้งทางด้านระบบซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์

ระบบบัญชีที่ดีจะช่วยให้ผู้บริหารได้รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆที่ถูกต้อง และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทั้งองค์กรได้อีกด้วย ดังนั้นอาชีพที่ปรึกษาทางด้านวางระบบบัญชี จึงค่อนข้างมีความสำคัญ

สรุปอาชีพนักบัญชี

อาชีพนักบัญชีเป็นอาชีพที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นอาชีพที่สามารถหางานได้ง่ายมากที่สุดอาชีพหนึ่ง เรียกได้ว่าถ้าจบบัญชีมา ป.ตรี มาแล้ว ก็สามารถการันตีได้เลยว่าไม่ตกงานแน่ เพราะมีเส้นทางวิชาชีพให้เลือกเดินที่หลากหลาย และเป็นที่ต้องการของตลาด หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักบัญชีทั้งหลายไม่มากก็น้อยนะครับ

ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)

ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า