ในการเลิกบริษัทเรื่องงบการเงินเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง และเป็นเรื่องที่ทำให้หลายๆบริษัทไม่สามารถเลิกได้ เพราะว่างบการเงินมีปัญหา ซึ่งพอสรรพากรตรจสอบแล้วทำให้มีภาระภาษีเพิ่มเติมเข้ามา ทำให้ไม่สามารถเลิกได้หากบริษัทไม่จ่ายชำระค่าภาษี
ท่านใดต้องการจดทะเบียนเลิกบริษัท โดยผู้เชียวชาญ ดูรายละเอียดได้ที่ : จดทะเบียนเลิกบริษัท
ดูคำอธิบายบทความในรูปแบบ VDO ที่ :
ประวัติผู้เขียน / ผู้สอน
- ปริญญาตรีบัญชี ธรรมศาสตร์
- ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเงิน NIDA
- ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA)
- ประกาศนียบัตรการรายงานทางการเงินไทย (DipTFR)
- Audit Manager ที่ EY (ประสบการณ์ 8 ปี ใน Big4)
- ดูใบประกาศทางวิชาชีพ
- ดูรีวิวจากลูกค้า
- About me
ทำไมจึงต้องใส่ใจในงบการเงินเมื่อเลิกบริษัท
ในการเลิกบริษัทจะต้องมีการจัดทำงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ งบการเงินดังกล่าวจะต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเซ็นรับรอง งบการเงินดังกล่าวจะต้องยื่นที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในขั้นตอนการจดเสร็จชำระบัญชี และยื่นที่กรมสรรพากรในการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคลเมื่อเลิกบริษัท
งบการเงิน ณ วันเลิกกิจการที่ยื่นที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายทะเบียนจะเอาไว้ดูรายละเอียดในเรื่องการจดเสร็จชำระบัญชี ว่าบริษัทจะสามารถจดเสร็จชำระบัญชีได้หรือไม่ ถ้างบการเงินไม่มีปัญหาใดๆก็สามารถจดเสร็จชำระบัญชีได้
งบการเงิน ณ วันเลิกกิจการที่ยื่นที่กรมสรรพากร เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะเอาไว้ดูรายละเอียดในเรื่องการเสียภาษีว่าบริษัทเสียภาษีถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ (ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนภาษีมูลคาเพิ่ม) โดยภาษีหลักๆที่เจ้าหน้าที่สรรพากรดูนั่นคือ ภาษีเงินได้ของนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะ
ดังนั้นจึงถือได้ว่างบการเงิน ณ วันเลิกกิจการจึงมีความสำคัญมากเนื่องจากต้องนำส่งที่ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร
ลูกหนี้ เจ้าหนี้คงค้างต้องเคลียร์ก่อนเลิกบริษัท
ในการจดทะเบียนเลิก หากบริษัทมีลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้คงค้างอยู่ บริษัทควรที่จะต้องเคลียร์ก่อนให้จบ โดยหากเป็นกรณีลูกหนี้ค้างทางบริษัทจะต้องหาทางเก็บเงินจากลูกหนี้ให้ได้ เนื่องจากหากจดทะเบียนเลิกบริษัทและเสร็จชำระบัญชีไปแล้วจะไม่สามารถตามเก็บหนี้จากลูกหนี้ได้ ในกรณีที่เป็นเจ้าหนี้คงค้างทางบริษัทก็ควรหาทางเจรจาและจ่ายชำระให้ครบถ้วนก่อนเลิก เพื่อที่จะไม่ได้มีปัญหาฟ้องร้องตามมาว่าบริษัทจดเสร็จชำระบัญชีไปได้อย่างไร โดยที่ยังไม่ได้เคลียร์หนี้
สินค้าคงเหลือควรขายออกไปก่อนเลิกบริษัท
บริษัทที่มีสินค้าคงเหลือค้างอยู่ผมแนะนำให้ขายออกไปก่อนให้เป็น 0 ก่อนจดทะเบียนเลิกบริษัทครับ เนื่องจากว่าหากคุณค้างสินค้าคงเหลือเอาไว้ในงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ ในทางภาษีอากรจะถือว่าสินค้าที่ค้างอยู่ ณ วันเลิกกิจการเป็นการขาย ดังนั้นทางคุณจะต้องหาราคาตลาดที่เหมาะสมให้สรรพากรพิจารณา เพื่อทำการปรับปรุงรายการสินค้าให้ที่เหลือให้เป็นการขาย ในการคำนวณภาษีของนิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นดังกล่าว ในความเห็นส่วนตัวของผมจึงคิดว่าบริษัทควรดำเนินการขายสินค้าคงเหลือออกไปก่อนจดทะเบียนเลิกครับ อย่างไรก็ตามหากสินค้าดังกล่าวไม่มีลูกค้ามาซื้อ และขายไม่ออกแล้ว ให้บริษัทดำเนินการขายสินค้าให้แก่กรรมการหรือผู้ถือหุ้นแทน ประเด็นสำคัญคือราคาขายนั้นจะต้องเป็นไปตามราคาตลาด และสามารถพิสูจน์ได้ว่าราคาที่ขายนั้นเป็นไปตามราคาตลาดแล้ว และยิ่งถ้าขายแล้วมีกำไรด้วยก็จะยิ่งดีครับ จะคุยกับเจ้าหน้าที่สรรพากรได้ง่ายขึ้น
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม : ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร
อุปกรณ์ควรขายออกไปก่อนเลิกบริษัท
ในกลุ่มของบัญชีสินทรัพย์ถาวร เช่น บัญชีอุปกรณ์ต่างๆ Concept จะเหมือนกับบัญชีกลุ่มสินค้าคงเหลือครับ นั่นคือ ณ วันที่จดทะเบียนเลิกบริษัทในทางภาษีอากรจะถือว่าเป็นการขาย ดังนั้นหากคุณค้างอุปกรณ์ต่างๆเอาไว้ในงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ ในทางภาษีอากรจะถือว่าอุปกรณ์ที่ค้างอยู่ ณ วันเลิกกิจการเป็นการขาย ดังนั้นทางคุณจะต้องหาราคาตลาดที่เหมาะสมให้สรรพากรพิจารณา เพื่อทำการปรับปรุงรายการอุปกรณ์ให้ที่เหลือให้เป็นการขาย ในการคำนวณภาษีของนิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายต้องนำส่งหัก ณ ที่จ่ายให้ครบถ้วน
ปกติแล้วในงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ จะมีบัญชีค่าใช้จ่ายค้างจ่ายอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ค่าทำบัญชีค้างจ่าย ค่าสอบบัญชีค้างจ่าย หรือค่าใช้จ่ายค้างจ่ายอื่นๆเป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายภาษีอากร ค่าใช้จ่ายค้างจ่ายเหล่านี้จะต้องมีการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายให้แก่กรมสรรพากร ซึ่งหากบริษัทนำส่งหัก ณ ที่จ่ายไม่ครบ เจ้าหน้าที่สรรพากรก็จะให้นำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้ครบถ้วนก่อนจึงจะสามารถเลิกบริษัทได้
ดังนั้นหากบริษัทมีภาระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายก็อย่าลืมนำส่งกันให้ครบถ้วนด้วยนะครับ ก่อนจดเสร็จชำระบัญชี
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายคืออะไร
กำไรสะสมของบริษัทต้องจัดการก่อนเลิก
หากบริษัทเปิดกิจการมาแล้วมีบัญชีกำไรสะสมที่เกิดจากกำไรที่บริษัททำมาหาได้สะสมทบมา ตัวบัญชีกำไรสะสมดังกล่าวนี้จะต้องมีภาระภาษีที่ต้องจ่ายด้วยครับ โดยบริษัทสามารถเลือกเสียภาษีจากตัวกำไรสะสมดังกล่าวได้ 2 วิธี นั่นคือ
- จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นก่อนเลิกกิจการ ซึ่งในการจ่ายเงินปันผลนั้นบริษัทจะต้องหัก ณ ที่จ่าย 10% จากผู้ถือหุ้น และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
- ค้างกำไรสะสมเอาไว้เลยโดยไม่จ่ายเงินปันผลออกไปก่อน ดังนั้นงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการจะยังมีกำไรสะสมค้างอยู่ ซึ่งกำไรสะสมที่ค้างอยู่นี้ก็จะต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้าของผู้ถือหุ้นแต่ละคน โดยแบ่งเฉลี่ยกำไรไปตามสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
ดังนั้นก่อนเลิกบริษัทเราจะต้องมาวิเคราะห์กันก่อน (ให้นักบัญชีช่วย) ว่าเราควรจะเลือกจ่ายเงินปันผลก่อนเลิก หรือค้างกำไรสะสมเอาไว้ ณ วันเลิกกิจการ วิธีใดผู้ถือหุ้นของบริษัทจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด
สรุป
ประเด็นในงบการเงินตามที่ได้อธิบายไปนั้นเป็นประเด็นหลักๆที่พบได้บ่อยในการเลิกบริษัท หากงบการเงินของบริษัทคุณมีประเด็นต่างๆเหล่านี้ ก็ควรที่จะมีการวางแผน และจัดการให้เรียบร้อยก่อนดำเนินการเลิกนะครับ เนื่องจากว่าหากเลิกไปแล้ว บางประเด็นจะไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้อีกครับ
ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา
(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)
ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า