ดรอปชิป (Dropship) คืออะไร? เรามาทำความเข้าใจกัน

ดรอปชิบ
สอนบัญชีภาษีฟรี

ดรอปชิป (Dropship) คือรูปแบบการขายของออนไลน์รูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมอยากมากในยุคปัจจุบัน ซึ่งผู้ขายหรือตัวแทนไม่จำเป็นต้องมีสินค้าในโกดัง ทำให้ไม่ต้องยุ่งยากในเรื่องของการจัดการสินค้า

ดรอปชิป (Dropship) คืออะไร?

ดรอปชิป (Dropship) เป็นการขายในระบบตัวแทนรูปแบบนึง ซึ่งตัวแทนไม่จำเป็นต้องมีสินค้าในโกดัง โดยตัวแทนจะนำข้อมูล รายละเอียดสินค้าของผู้ขายอื่นนำมาใช้ในการโฆษณา และหากสามารถปิดการขายได้ ก็จะส่งคำสั่งการซื้อไปให้แก่ผู้ขายอื่นนั้น เพื่อให้ผู้ขายอื่นส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยตรงในนามของตัวเทน โดยตัวแทนจะได้กำไรจากส่วนต่างราคาสินค้าที่ได้รับจากลูกค้า และต้นทุนค่าสินค้าที่ต้องจ่ายให้กับผู้ขายอื่น

เราลองมาดูตัวอย่างรูปแบบการขายแบบ ดรอปชิป (Dropship) กันดังนี้

dropship คืออะไร

สมมติว่าคุณเป็นตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าให้แก่ร้านค้าที่เป็นเจ้าของสินค้า คุณได้นำรายละเอียดสินค้าของร้านค้าที่เป็นเจ้าของสินค้ามาใช้ในการโปรโมทสินค้าต่างๆ

ต่อมามีลูกค้าติดต่อมาเพื่อซื้อสินค้า และจ่ายเงินค่าสินค้ามาให้คุณในราคา 200 บาท ทางคุณก็รับออเดอร์ และส่งข้อมูลออร์เดอร์นี้ให้แก่ร้านค้า พร้อมกับจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ร้านค้า 150 บาท จะเห็นได้ว่าคุณจะได้กำไรจากส่วนต่างราคา 50 บาท จากการขายครั้งนี้

เมื่อร้านค้าได้รับออเดอร์ ก็จะจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยตรงเลยในนามของตัวแทน

ข้อดีของการขายของแบบ ดรอปชิป (Dropship)

  1. ตัวแทนขายไม่ต้องยุ่งยากในเรื่องการจัดการสินค้า ทั้งเรื่องการจัดเก็บสินค้า การจัดส่งสินค้า
  2. ตัวแทนขายสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้โดยที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เพราะไม่ต้องสต๊อคสินค้า
  3. ตัวแทนขายสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลา เช่น การถ่ายรูปสินค้า การหาสรรพคุณของสินค้า เพราะทางร้านค้าที่เป็นเจ้าของสินค้าจะเตรียมข้อมูลเหล่านี้ให้อยู่แล้ว
  4. ร้านค้าที่เป็นเจ้าของสินค้าบางทีก็ไม่ถนัดเรื่องการขาย จึงสามารถมอบหมายให้ตัวแทนที่อาจเชี่ยวชาญในเรื่องการขายมากกว่า ขายแทนได้

ข้อเสียของการขายของแบบ ดรอปชิป (Dropship)

การขายสินค้าในรูปแบบนี้ ถึงแม้จะมีข้อดีอยู่มาก แต่ก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน สามารถสรุปได้ดังนี้

  1. ในมุมของตัวแทน อาจจะมีการแข่งขันสูง เนื่องจากความง่ายในการเริ่มต้นทำธุรกิจ จะทำให้มีตัวแทนที่ต้องการเข้ามาขายสินค้ามาก
  2. เมื่อมีคู่แข่งมากตามหลักของอุปสงค์ อุปทาน อาจทำให้ตัวแทนได้มาร์จิ้นน้อย หรือมีกำไรน้อยนั่นเอง
  3. ตัวแทนอาจจะต้องเช็คจำนวนสินค้าคงเหลือกับทางร้านค้าให้ดีๆ ว่าสินค้าคงเหลือที่สต๊อคเก็บเอาไว้นั้นเพียงพอกับการขายหรือไม่
  4. หากร้านค้าที่เป็นเจ้าของสินค้าส่งสินค้าผิดพลาด ทางตัวแทนต้องน้อมรับข้อผิดพลาดดังกล่าวกับลูกค้าเอาไว้เอง

ประเด็นภาษี เกี่ยวกับการขายของแบบ ดรอปชิป (Dropship)

ทางฝั่งตัวแทนขายสินค้า มีข้อที่ต้องพิจารณาคือเงินได้ที่ได้รับมานั้นจะถือเป็นเงินได้ตาม 40(2) หรือ 40(8) ซึ่งมีหลักในการพิจารณาดังนี้

กรณีที่ 1 : ถือเป็นเงินได้ตาม 40(2)

หากตัวแทนกำหนดราคาขายเองไม่ได้ เจ้าของสินค้ากำหนดราคาเอาไว้ตายตัว และยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้า ค่านายหน้าที่ได้รับจากการทำ ดรอปชิป (Dropship) จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตร 40(2)

การหักค่าใช้จ่าย :

หักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาที่ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (หากมีเงินได้ทั้ง 40(1) และ 40(2) ให้นำเอาเงินได้ทั้ง 2 ประเภทมารวมกัน แต่หักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 100,000 บาท)

กรณีที่ 2 : ถือเป็นเงินได้ตาม 40(8)

หากตัวแทนสามารถกำหนดราคาขายเองได้ เนื่องจากได้รับโอนกรรมสิทธิ์สินค้าในรูปแบบซื้อมาขายไป จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)

การหักค่าใช้จ่าย :

  1. หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ 60% ของรายได้จากการขายสินค้าให้ลูกค้า (กรณีที่ไม่ได้เก็บใบเสร็จเอกสารในการซื้อเอาไว้)
  2. หักค่าใช้จ่ายตามจริง (กรณีที่เก็บใบเสร็จเอกสารในการซื้อเอาไว้)

ศึกษาประเภทเงินได้เพิ่มเติม : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณอย่างไร?

สรุป

ดรอปชิป (Dropship) เป็นการขายสินค้าในอีกรูปแบบหนึ่งที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราในฐานะผู้ประกอบการ หรือนักบัญชี ก็ควรต้องศึกษาการขายในรูปแบบใหม่ๆเอาไว้ จะได้นำไปปรับใช้ในธุรกิจของตนเองได้ต่อไป

ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)

ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า

 ช่วยแชร์บทความให้หน่อยครับ