เงินให้กู้ยืมกรรมการ / เงินกู้ยืมกรรมการ คืออะไร?

เงินให้กู้ยืมกรรมการ / เงินกู้ยืมกรรมการ
สอนบัญชีภาษีฟรี

เงินให้กู้ยืมกรรมการ / เงินกู้ยืมกรรมการ ในงบการเงินเป็นบัญชีหนึ่งที่มีความน่าปวดหัวมากที่สุด และผมเชื่อว่างบการเงินมากกว่าครึ่งในประเทศไทยมีบัญชีนี้อยู่ในงบการเงิน

ในบทความนี้เราะมาอธิบายกันว่า เงินให้กู้ยืมกรรมการ / เงินกู้ยืมกรรมการคืออะไร และมีประเด็นทางด้านภาษีอะไรบ้างเกี่ยวกับบัญชีดังกล่าว

เงินให้กู้ยืมกรรมการคืออะไร?

ตามความหมายตามงบการเงิน เงินให้กู้ยืมกรรมการหมายถึงเงินที่ทางบริษัทโอนให้แก่กรรมการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อการกู้ยืมเงิน โดยปกติแล้วการกู้ยืมเงินระหว่างบริษัทและกรรมการมักจะมีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกัน เนื่องจากถือว่าเป็นคนละบุคคลกัน

สาเหตุที่ทำให้มีบัญชีเงินให้กู้ยืมกรรมการในงบการเงิน

แต่สาเหตุจริงๆที่ทำให้เกิดบัญชีเงินให้กู้ยืมกรรการในงบการเงินนั้นอาจไม่ได้เกิดจากการให้กู้ยืมเงินเพียงอย่างเดียว อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้

  1. เกิดจากการกู้ยืมกันจริงระหว่างบริษัท และกรรมการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน (บริษัทให้กรรมการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกันกู้ยืม) ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกันตามความเสี่ยงและตามความเหมาะสม
  2. เกิดจากการที่กรรมการดึงเงินออกไปจากบริษัท (กรรมการโอนเงินของบริษัทออกไปเข้าบัญชีส่วนตัว) แต่ไม่มีมีเอกสารหลักฐานเพื่อลงบัญชี ในกรณีนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นกรณีที่กรรมการดึงเงินจากบริษัทออกไปใช้จ่ายส่วนตัว จึงทำให้เวลาเงินออกจากบริษัทนักบัญชีจึงบันทึกบัญชีเข้า เงินให้กู้ยืมกรรมการ ซึ่งหากเป็นในกรณีนี้มักจะไม่มีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกัน เนื่องจากเหตุผลเบื้องหลังจริงๆแล้วไม่ใช่การกู้ยืมเงินกันจริงๆ
  3. เกิดจากการที่บริษัทเก็บเอกสารไม่เรียบร้อย ทำให้เอกสารในการซื้อสูญหาย หาไม่พบ ทำให้ไม่มีเอกสารซื้อไป Support ยอดเงินออกของบริษัท ทำให้นักบัญชีไม่รู้จะไปบันทึกบัญชีกับอะไร จึงลงเป็นบัญชี เงินให้กู้ยืมเงินกรรมการเอาไว้ (เปรียบเสมือนบัญชีที่เอาไว้ตบยอดนั่นเอง) ซึ่งหากเป็นในกรณีนี้มักจะไม่มีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกัน เนื่องจากเหตุผลเบื้องหลังจริงๆแล้วไม่ใช่การกู้ยืมเงินกันจริงๆ

ประเด็นทางภาษีเกี่ยวกับ เงินให้กู้ยืมกรรมการ / เงินกู้ยืมกรรมการ

กรณีเงินให้กู้ยืมกรรมการ ที่มีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกัน

หากมีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกัน จะถือเป็นการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ซึ่งตามกฎหมายจะมีภาษีธุรกิจเฉพาะที่ต้องเสียที่ 3.3% ของดอกเบี้ยรับ ซึ่งจะเลือกจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะตามเกณฑ์เงินสด หรือตามเกณฑ์สิทธิก็ได้

กรณีเงินให้กู้ยืมกรรมการ ที่ไม่มีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกัน

หากไม่มีมีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกัน โดยกรณีนี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาแล้วว่า

“หากกรรมการกู้ยืมเงินบริษัทโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานมีอำนาจกำหนดดอกเบี้ยตามราคาตลาดเป็นรายรับ และถือว่าผู้ให้กู้ได้รับชำระดอกเบี้ยแล้ว ผู้ให้กู้จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย”

สรุปคือหากไม่มีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกันในทางบัญชีก็จะไม่บันทึกดอกเบี้ยรับเข้ามาในงบการเงิน แต่ในการคำนวณภาษี ภงด.50 จะมีการบวกกลับ ดอกเบี้ยรับเข้ามาเพิ่มเติมในทางภาษี และดอกเบี้ยรับดังกล่าวจะต้องนำมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย ณ เดือนที่ปิดงบการเงิน

กรณีเงินกู้ยืมกรรมการ ที่มีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกัน

เมื่อบริษัทกู้ยืมเงินจากกรรมการ และมีดอกเบี้ยจ่ายที่ต้องจ่ายให้แก่กรรมการ จะต้องหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของดอกเบี้ยจ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายด้วยแบบ ภงด.2 ในเดือนถัดไป

สรุปแนวทางแก้ไขเพื่อไม่ให้มีบัญชี เงินให้กู้ยืมกรรมการ / เงินกู้ยืมกรรมการ ในงบการเงิน

ในกรณีที่เป็นการกู้ยืมเงินกันจริง งบการเงินของบริษัทสามารถมีบัญชี เงินให้กู้ยืมกรรมการ / เงินกู้ยืมกรรมการ ได้ เพื่อให้งบการเงินสะท้อนความจริงมากที่สุด แต่หากไม่มีการกู้ยืมกันจริงแต่ดันมีบัญชีนี้โผล่มา ผมเห็นว่าเราควรมีแนวทางการแก้ไขดังนี้

  1. ผู้ทำบัญชีทุกๆสิ้นเดือนควรมีการกระทบยอดเงินเข้า-ออกในบัญชีธนาคาร กับ บัญชีแยกประเภทที่บันทึกบัญชี เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทได้บันทึกบัญชีอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะไม่ทำให้เกิดบัญชี เงินให้กู้ยืมกรรมการ / เงินกู้ยืมกรรมการ โผล่มา
  2. เจ้าของกิจการควรจะแยกกระเป๋าให้ชัดเจนระหว่างบริษัทกับส่วนตัว โดยการเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท และแยกเงินออกจากเงินส่วนตัวของเจ้าของกิจการให้ชัดเจน ดังนั้นเวลาที่มีรายได้บริษัทเข้ามาก็จะต้องโอนเข้าบัญชีบริษัท เวลามีค่าใช้จ่ายบริษัทก็ต้องโอนออกจากบัญชีของบริษัท ห้ามนำมาปะปนกับบัญชีส่วนตัวเด็ดขาด

ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)

ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า