ภาษีเงินได้นิติบุคคลคืออะไร

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

โปรโมชั่นสุดพิเศษ (หากตกลงทำบัญชีกับเราภายในเดือนนี้)

  1. ทำบัญชีให้ฟรีเดือนแรก (หากรู้สึกว่าไม่คลิ๊ก คุณสามารถเปลี่ยนสำนักงานบัญชีได้ในเดือนถัดไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ)
  2. ให้สิทธิ์ใช้โปรแกรมบัญชีออนไลน์ (PEAK) ฟรีตลอดการใช้บริการกับทางเรา (เฉพาะลูกค้าที่ไม่เคยใช้โปรแกรม PEAK เท่านั้น)
  3. สอนการใช้งานโปรแกรมบัญชีออนไลน์ (PEAK) เบื้องต้น
  4. แจกคอร์ส VDO ออนไลน์ (กว่า 30 ชั่วโมง) เกี่ยวกับบัญชี ภาษี ฟรี คุณสามารถไปเรียนรู้เพิ่มเติมทางด้านบัญชีภาษีด้วยตัวเองได้ ตัวอย่างเนื้อหาหลักสูตรตามนี้

ติดต่อ : คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt

ภาษีเงินได้นิติบุคคลคือภาษีที่จัดเก็บจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยจัดเก็บจากฐานกำไรสุทธิทางภาษี กล่าวคือนิติบุคคลมีกำไรมากก็ต้องเสียภาษีมาก นิติบุคคลที่มีกำไรน้อยก็จะเสียภาษีน้อยไปด้วยเช่นเดียวกัน

ดูคำอธิบายบทความในรูปแบบ VDO ที่ :

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

สูตรในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีเงินได้นิติบุคคลมีสูตรในการคำนวณดังต่อไปนี้

ภาษีเงินได้นิติบุคคล = กำไรทางภาษี x อัตราภาษี

จากสูตรในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว สามารถแตกรายละเอียดออกมาได้ดังนี้

กำไรทางภาษี = กำไรทางบัญชี + ผลแตกต่างระหว่างกำไรทางบัญชีและกำไรทางภาษี

ผลแตกต่างระหว่างกำไรทางบัญชีและกำไรทางภาษี จริงๆแล้วมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ในที่นี้ผมขอสรุปตัวหลักๆมาให้ดังนี้ครับ

ผลแตกต่างระหว่างกำไรทางบัญชีและกำไรทางภาษี = รายจ่ายต้องห้าม + รายได้เพิ่มทางภาษี

รายจ่ายต้องห้ามคือ รายจ่ายที่เราบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในทางบัญชี แต่ในทางภาษีไม่ยินยอมให้เป็นค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างเช่น รายจ่ายที่ถูกจ่ายตัดออกจากบัญชีจริง แต่เอกสารประกอบการบันทึกบัญชีไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่มีเอกสารใบเสร็จรับเงิน หรือ ข้อมูลในใบเสร็จรับเงินไม่ถูกต้องเป็นต้น ทางสรรพากรจึงไม่ยินยอมให้บันทึกเป็นค่าใช้จ่าย ก็จะเรียกว่า ค่าใช้จ่ายต้องห้าม

รายได้เพิ่มทางภาษี เป็นรายได้ที่ทางบัญชีไม่ได้บันทึกเป็นรายได้ แต่สรรพากรให้ถือเป็นรายได้ เช่น เงินให้กู้ยืมกรรมการที่ทางบัญชีไม่ได้มีการคิดดอกเบี้ยรับ แต่ทางสรรพากรให้คิดเป็นรายได้ดอกเบี้ยเป็นต้น

ดังนั้นรายการดังกล่าวจึงเป็นผลแตกต่างระหว่างกำไรทางบัญชีและกำไรทางภาษี ที่จะต้องนำมาบวกเพิ่มกับกำไรทางบัญชี ให้เป็นกำไรทางภาษีที่เพิ่มขึ้นตามที่สรรพากรต้องการ

สรุปสูตรภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้

ภาษีเงินได้นิติบุคคล = (กำไรสุทธิทางบัญชี + ผลแตกต่างระหว่างกำไรทางบัญชีและกำไรทางภาษี) x อัตราภาษี

ทำความเข้าใจกำไรสุทธิทางบัญชี

เมื่อคุณเปิดบริษัทเรียบร้อยแล้ว ตามกฎหมายบริษัทจะต้องมีการจัดทำงบการเงิน ซึ่งจะต้องมีการแสดงฐานะการเงิน และผลการดำเนินการเอาไว้อยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัททราบตัวเลขกำไรสุทธิทางบัญชีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นตัวตั้งต้นในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในการบันทึกบัญชีจะบันทึกตามเกณฑ์สิทธิ นั่นคือจะบันทึกรายได้ ค่าใช้จ่าย ตามรายการที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้บันทึกรายการตามเงินสด

ยกตัวอย่างเช่น สิ้นปี 2563 บริษัท A ขายสินค้าสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยส่งของให้แก่ลูกค้าแล้วเป็นจำนวน 10,000 บาท โดยบริษัท A ได้รับเงินจากลูกค้าช่วงต้นปี 2564 ในงบการเงินปี 2563 บริษัท A ต้องบันทึกรายได้เข้ามาในงบการเงินเลยเนื่องจากส่งของไปให้แก่ลูกค้าแล้ว ถึงแม้ว่าจะได้รับเงินจากการขายในปี 2564 อันนี้คือความหมายของเกณฑ์สิทธิสูตรในการคำนวณหากำไรสุทธิทางบัญชีนั้นเป็นดังต่อไปนี้

กำไรสุทธิทางบัญชี = รายได้ – ค่าใช้จ่าย

รายจ่ายต้องห้าม

รายจ่ายต้องห้ามคือรายจ่ายที่ในทางภาษีไม่ให้นำมาลงเป็นรายจ่าย ถึงแม้ว่าในทางบัญชีจะลงเป็นรายจ่ายได้ ดังนั้นรายการนี้ต้องนำมากระทบยอดโดยการบวกกลับเพื่อให้กำไรทางบัญชีให้เท่ากับกำไรทางภาษีรายละเอียดรายจ่ายต้องห้ามสรุปรายการหลักๆดังต่อไปนี้

  1. เงินสำรอง เช่น ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ, ค่าเผื่อสินค้าล้าสมัย เป็นต้น
  2. เงินที่จ่ายเข้ากองทุน ยกเว้น เงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  3. รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เช่น บริษัทซื้อของขวัญให้เพื่อนของเจ้าของซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัท เป็นต้น
  4. ค่ารับรองหรือค่าบริการในส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย
  5. รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน เช่น การซื้อสินทรัพย์ถาวร (ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์)
  6. เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ทางภาษีอากร เช่น เบี้ยปรับที่คุณยื่นแบบภาษีล่าช้า ทางบริษัทจะไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาลงเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้
  7. ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม
  8. เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะในส่วนที่จ่ายเกินสมควร
  9. รายจ่ายที่กำหนดขึ้นเอง โดยที่ไม่มีการจ่ายจริง เช่น บริษัทบันทึกค่าโบนัส และโบนัสค้างจ่ายเอาไว้ในงบการเงิน แต่พอถึงกำหนดจ่ายแล้วไม่ได้มีการจ่ายโบนัสดังกล่าวจริงๆ
  10. ผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากประกันหรือสัญญาคุ้มกัน เช่น หากบริษัทเกิดเพลิงไหม้ทำให้คลังสินค้าของบริษัทเกิดความเสียหาย แต่บริษัทมีการทำประกันเอาไว้ ดังนั้นผลเสียหายดังกล่าวบริษัทจะยังไม่สามารถบันทึกเป็นรายจ่ายได้ จนกว่าจะทราบผลว่าเงินประกันที่ทำเอาไว้นั้นจะครอบคลุมความเสียหายหรือไม่
  11. รายจ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการ
  12. รายจ่ายที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ เช่น บริษัทไปซื้อสินค้าเพื่อมาซ่อมแซมอุปกรณ์สำนักงานที่เสียหาย แต่ใบเสร็จที่บริษัทได้มากลับเป็นบิลเงินสดที่ไม่มีรายละเอียดอะไรเลย รวมทั้งไม่มีรายละเอียดของผู้รับเงิน รายจ่ายลักษณะนี้ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
  13. รายจ่ายที่กำหนดจากผลกำไร เช่น รายการค่าที่ปรึกษาที่มีการคำนวณการจ่ายจากผลกำไรของบริษัท

รายได้เพิ่มทางภาษี

รายได้เพิ่มทางภาษี คือ รายได้ที่ทางบัญชีไม่ได้บันทึกเอาไว้ในงบการเงิน แต่ในทางภาษีให้ถือเป็นรายได้ เช่น บริษัทมีเงินให้กรรมการกู้ยืมแบบไม่คิดดอกเบี้ย ในงบการเงินจึงไม่ได้มีการบันทึกดอกเบี้ยรับเข้ามาเนื่องจากบริษัทไม่ได้รับดอกเบี้ยรับจากกรรมการ แต่ในทางภาษีจะต้องมีการคำนวณดอกเบี้ยรับด้วยด้วยอัตราไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ดังนั้นรายการประเภทดังกล่าวจึงต้องมีรายการบวกกลับเข้ามาเพื่อทำให้กำไรทางบัญชีเพิ่มสูงขึ้นให้เท่ากับกำไรทางภาษี เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

การแปลงกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษี

เนื่องจากการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจะคำนวณจากกำไรสุทธิทางภาษี แต่โดยปกติแล้วบริษัทจะมีเพียงแต่กำไรสุทธิทางบัญชี ตามที่ผู้ทำบัญชีของบริษัทบันทึกรายมา ดังนั้นบริษัทจึงต้องมีการกระทบยอดรายการเพิ่มเติมจากกำไรสุทธิทางบัญชี เพื่อให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษี ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลดังต่อไปนี้

กำไรทางภาษี = กำไรทางบัญชี + ผลแตกต่างระหว่างกำไรทางบัญชีและกำไรทางภาษี

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในปัจจุบัน จะแบ่งได้ออกเป็น 2 กรณี นั่นคือกรณีบริษัทที่เป็น SME จะเสียภาษีในอัตรา 0% – 20% ตามช่วงของกำไร สำหรับบริษัทที่ไม่ใช่ SME จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราเดียวคือ 20% สามารถดูรายละเอียดได้ตามตารางนี้

เปรียบเทียบอัตราภาษี SME vs Non SME

ความหมายของ SME คือนิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท นิติบุคคลที่ไม่ใช่ SME คือเป็นนิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วเกิน 5 ล้านบาท หรือรายได้รวมเกิน 30 ล้านบาท

ตัวอย่างในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

บริษัท A มีกำไรสุทธิทางบัญชีตามงบการเงินเป็นจำนวน 3,000,000 บาท โดยบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของพ่อ แม่ ผู้บริหาร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเป็นจำนวน 200,000 (รายการนี้ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม) สามารถคำนวณกำไรทางภาษีได้ดังต่อไปนี้

กำไรทางภาษี = กำไรทางบัญชี + ผลแตกต่างระหว่างกำไรทางบัญชีและกำไรทางภาษีกำไรทางภาษี

= 3,000,000 + 200,000 = 3,200,000 บาท

กำไรทางภาษีของบริษัทนั้นอยู่ที่ 3,200,000 บาท เนื่องจากไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของพ่อ แม่ ผู้บริหารมาเป็นค่าใช้จ่ายในทางภาษีได้ (แต่ในทางบัญชีค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นส่วนหักอยู่ในกำไรทางบัญชี) กำไรดังกล่าวจะเอามาคำนวณภาษีแบ่งได้เป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้กรณีที่บริษัท A เป็น SME

คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณี SME

กรณีที่บริษัท A ไม่เป็น SME

คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณี Non SME

จะเห็นได้ว่าการที่เราเป็น SME นั้นจะทำให้มีอัตราภาษีน้อยกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ SME ส่งผลให้มียอดเสียภาษีที่ต่ำกว่าด้วย ในการเป็น SME นั้นไม่ต้องไปขอจดทะเบียนใดๆ เพียงแค่เราเข้าเกณฑ์ทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท นั่นเอง

เปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล VS อัตราภาษีของบุคคล

เมื่อนำอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลมาเปรียบเทียบกับอัตราภาษีของบุคคล จะเป็นไปตามตารางนี้

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา vs อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

จะเห็นได้ว่าหากเราเป็นบุคคล อัตราภาษีในช่วงแรกนั้นจะต่ำกว่าหรือเท่ากับนิติบุคคล คือช่วงที่มีเงินได้สุทธิ/กำไร ที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราภาษีจะอยู่ที่ 5%-20%

อย่างไรก็ตามหากเงินได้สุทธิ/กำไรเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีของบุคคล จะเพิ่มขึ้นเป็น 25%-35% ซึ่งจะเป็นอัตราที่สูงกว่านิติบุคคล

ดังนั้นในช่วงแรกในการประกอบธุรกิจที่คุณยังมีเงินได้สุทธิ/กำไร ไม่เกิน 1 ล้านบาท คุณสามารถทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาไปก่อนก็ได้ เพื่อผลประโยชน์ทางด้านภาษี อย่างไรก็ตามหากธุรกิจของคุณเริ่มโตขึ้นและมีเงินได้สุทธิ/กำไร เกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป ค่อยมาพิจารณาในเรื่องการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกันต่อไป

สรุปภาษีเงินได้นิติบุคคล

บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ถือว่าเป็นนิติบุคคล ซึ่งทุกนิติบุคคลหากประกอบธุรกิจแล้วมีกำไรสุทธิจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยการยื่นแบบ ภงด.50 ภายใน 150 วันนับจากวันที่สิ้นรอบบัญชี ดังนั้นเราในฐานะผู้ประกอบการจึงควรมีความรู้ความเข้าใจภาษีดังกล่าว เพื่อที่จะได้ปฎิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง

ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)

ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า

ช่วยแชร์บทความให้หน่อยครับ