การยื่นงบการเงินประจำปี
งบการเงิน คือรายงานทางการเงิน ที่ทำให้ผู้ใช้งบการเงินทราบถึงฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสะเงินสดของกิจการ ประโยชน์ของงบการเงินมีหลายประการ เช่น ช่วยให้ข้อมูลแก่ผู้บริหารเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ หรือ ช่วยให้ข้อมูลแก่นักลงทุนเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจลงทุนในกิจการที่สนใจ เป็นต้น
เมื่อคุณจดทะเบียนเป็นบริษัทแล้ว คุณต้องยื่นงบการเงินเป็นประจำทุกปี หากคุณเลือกวันที่ปิดงบการเงินเอาไว้ในข้อบังคับของบริษัท คุณต้องปิดงบการเงินตามวันที่ที่คุณเลือกเอาไว้ตอนจดทะเบียน เช่น หากคุณเลือกรอบบัญชีเป็นวันที่ 31 ธันวาคม เมื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปีทางคุณต้องนำส่งงบการเงินเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่หากในข้อบังคับบริษัท เรายึดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เราก็สามารถเลือกรอบบัญชีวันที่ปิดงบการเงินเองได้ ที่ไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่จดทะเบียน
บริษัทต้องยื่นงบการเงิน 2 ที่ได้แก่ 1.กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 2.กรมสรรพากร
ในการยื่นงบการเงินที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามกฎหมายกำหนดให้บริษัทจะต้องประชุมอนุมัติงบการเงินภายใน 4 เดือน นับจากวันที่ปิดงบการเงิน และบริษัทจะต้องนำส่งงบการเงินภายในเดือน 1 นับจากวันที่ประชุมอนุมัติงบการเงิน
ดูวิธีการยื่นงบการเงินได้ที่ : dbd e-filing มีขั้นตอนในการยื่นงบการเงินอย่างไร?
ในการยื่นงบการเงินที่กรมสรรพากร ตามกฎหมายกำหนดให้บริษัทต้องนำส่ง ภงด.50 และยื่นงบการเงินภายใน 150 วันนับจากวันที่สิ้นรอบบัญชี ซึ่งหากผู้ประกอบการได้นำส่งงบการเงินผ่านระบบ E-Filing ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ก็เพียงนำส่งแต่ ภงด.50 ที่กรมสรรพากร โดยไม่ต้องนำส่งงบการเงินที่สรรพากรซ้ำอีก แต่หากว่าเรายังไม่ได้ยื่นงบการเงินผ่านระบบ E-Filing ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ต้องแนบไฟล์งบการเงินเข้าไปด้วยตอนยื่น ภงด.50 ที่กรมสรรพากร
ศึกษาเกี่ยวกับการยื่น ภงด.50 : ภาษีเงินได้นิติบุคคลคืออะไร?
หากไม่ได้ยื่นงบการเงินจะเกิดผลอย่างไรบ้าง
ความผิดในการไม่นำส่งงบการเงินเป็นความผิดทางอาญาประการหนึ่งในขั้นแรกทางคุณจะได้รับจดหมายจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ไปนำส่งงบการเงินให้ถูกต้อง แต่หากยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องถัดมาทางคุณจะได้รับหมายเรียกจากตำรวจให้เข้าพบเพื่อไปดำเนินการเสียค่าปรับ และดำเนินการยื่นงบการเงินในภายหลังให้ถูกต้อง
สำหรับค่าปรับในการส่งงบการเงินล่าช้า นั้นมี 2 กรณีคือ
- บริษัทที่ประชุมอนุมัติงบการเงินไม่ทันภายใน 4 เดือน บริษัทจะเสียค่าปรับ 6,000 บาท และกรรมการผู้มีอำนาจผูกพันบริษัทอีกคนละ 6,000 บาท
- บริษัทที่ประชุมอนุมัติงบทันภายใน 4 เดือน แต่ไม่ได้ยื่นงบการเงินภายใน 1 เดือนให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะเสียค่าปรับเป็นกรณีดังนี้
ค่าปรับกรณียื่นงบล่าช้าไม่เกิน 2 เดือน : ผู้มีหน้าที่ทำบัญชี 1,000 บาท / กรรมการผู้จัดการผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ 1,000 บาท
ค่าปรับกรณียื่นงบล่าช้าเกิน 2 เดือนแต่ไม่เกิน 4 เดือน : ผู้มีหน้าที่ทำบัญชี 4,000 บาท / กรรมการผู้จัดการผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ 4,000 บาท
ค่าปรับกรณียื่นงบล่าช้าเกินกว่า 4 เดือนขึ้นไป : ผู้มีหน้าที่ทำบัญชี 6,000 บาท / กรรมการผู้จัดการผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ 6,000 บาท
สำหรับท่านใดที่โดนหมายเรียกตำรวจก็อย่าเพิ่งตกใจไปในครับ ข้อแนะนำของผมคือให้ทางคุณรีบหาผู้ทำบัญชี เพื่อจัดทำและยื่นงบการเงินให้เร็วที่สุด หากมีค่าปรับที่ต้องเสียให้คุณเสียค่าปรับที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และให้เอาใบเสร็จค่าปรับที่คุณได้ชำระแล้วไปแสดงต่อตำรวจว่าทางคุณได้ดำเนินการชำระค่าปรับในการยื่นงบการเงินล่าช้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทางผมมีบริการปิดงบการเงินย้อนหลังให้ด้วย ดูรายละเอียดที่ : รับทำบัญชี
ผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีคือใคร
ในการยื่นงบการเงินจะมี 2 คนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับบริษัท นั่นคือผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี
ผู้ทำบัญชีจะเป็นคนที่รวบรวมเอกสารของบริษัทในแต่ละเดือนมาบันทึกบัญชี เมื่อบันทึกบัญชีเสร็จ ตอนสิ้นปีผู้ทำบัญชีก็จะส่งข้อมูลที่ได้บันทึกเอาไว้ส่งให้แก่ผู้สอบบัญชี พร้อมเอกสารประกอบการบันทึกบัญชี ผู้ทำบัญชีจะเรียกเก็บค่าบริการเป็นรายเดือน ค่าบริการดังกล่าวนั้นจะเรียกว่า “ค่าทำบัญชี”
ผู้สอบบัญชีเมื่อได้รับข้อมูลต่างๆจากผู้ทำบัญชีแล้วก็จะทำการตรวจสอบว่าข้อมูลที่ผู้ทำบัญชีบันทึกนั้นถูกต้องตรงกับเอกสารหรือไม่ ถ้ามีส่วนที่ไม่ถูกต้องผู้สอบบัญชีก็จะทำการปรับปรุงรายการจนกว่างบการเงินจะถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เมื่อข้อมูลการบันทึกบัญชีต่างๆนั้นถูกต้องตรงตามเอกสารแล้วผู้สอบบัญชีก็จะจัดทำงบการเงิน และลงลายมือชื่อลงไปในงบการเงิน และส่งงบการเงินที่ลงลายมือชื่อแล้วกลับไปให้ผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชีจะเรียกเก็บค่าบริการเป็นรายปี ค่าบริการดังกล่าวนั้นจะเรียกว่า “ค่าสอบบัญชี”
เมื่อผู้ทำบัญชีได้รับงบการเงินที่ลงลายมือชื่อแล้ว ผู้ทำบัญชีก็จะยื่นงบการเงินดังกล่าวให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร ให้ทันตามที่กฎหมายกำหนด
ขั้นตอนในการยื่นงบการเงินสำหรับผู้ประกอบการ
ในส่วนนี้หากคุณเป็นผู้ประกอบการก็ไม่ต้องกังวลใจไปนะครับ เนื่องจากการยื่นงบการเงินทางเทคนิค จะมีผู้ทำบัญชีที่จะคอยดำเนินการให้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทราบนั้นมีดังนี้
- เมื่อคุณจดทะเบียนบริษัทเสร็จสิ้น ทางคุณจะได้รับ Username Password ในการนำส่งงบการเงน E-Filing ทาง Email ให้ทางคุณเก็บ Username Password ดังกล่าวไว้ และแจ้งข้อมูล Username Password ดังกล่าวให้แก่ผู้ทำบัญชี เพราะผู้ทำบัญชีจะต้องนำไปใช้ในการยื่นงบการเงินประจำปี
- บริษัทต้องจัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีเพื่ออนุมัติงบการเงินให้ทันภายใน 4 เดือนนับจากวันที่สิ้นรอบบัญชี
- ก่อนจัดประชุมบริษัทต้องประกาศข้อความหนังสือเชิญประชุมลงในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 1 ฉบับ และต้องส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นทางไปรษณีย์ตอบรับถึงผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 7 วัน ก่อนวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น
- หลังจากประชุมอนุมัติงบการเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทต้องดำเนินการนำส่งงบการเงินให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 1 เดือนนับจากวันที่ประชุม และต้องนำส่ง ภงด.50 และยื่นงบการเงินภายใน 150 วันนับจากวันที่สิ้นรอบบัญชี
ดูวิธีการยื่นงบการเงินได้ที่ : dbd e-filing มีขั้นตอนในการยื่นงบการเงินอย่างไร?
สรุป
หากคุณจดทะเบียนเป็นบริษัทแล้ว การยื่นงบการเงินเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมาก จากประสบการณ์ของผม มีผู้ประกอบการหลายคนที่เปิดบริษัทขึ้นมาแล้วไม่ได้ทำอะไรต่อ โดยทิ้งร้างบริษัทไปเฉยๆไม่ได้จัดทำและนำส่งงบการเงินให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผลสุดท้ายก็จะได้รับหมายเรียกจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและหมายเรียกจากตำรวจ ซึ่งจะต้องดำเนินการเสียค่าปรับมากมายในการนำส่งงบการเงินล่าช้า
นอกจากนี้ถ้าไม่ได้นำส่งงบการเงินมาหลายๆปีและมาจัดทำงบการเงินทีเดียวก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากอีกด้วย ดังนั้นผมแนะนำทุกท่านให้ใส่ใจในเรื่องการยื่นงบการเงินและทำให้ถูกต้องตามกฎหมายจะได้ไม่มีปัญหาต่างๆตามมาครับ
สงสัยตรงไหนสามารถสอบถามมาได้นะครับ
ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา
(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)
ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้าช่วยกันแชร์บทความให้หน่อยครับ