หักภาษี ณ ที่จ่ายมีวิธีการอย่างไร

หักภาษี ณ ที่จ่าย
สอนบัญชีภาษีฟรี

การหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นเรื่องที่มีคววามยุ่งยากและสับสนมากสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจในเรื่องหัก ณ ที่จ่ายกันครับ

การหักภาษี ณ ที่จ่ายคืออะไร

การหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นภาษีที่ผู้จ่ายเงินได้ (เฉพาะรายจ่ายบางรายการที่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย) ต้องหักเงินจากผู้รับเงินเอาไว้บางส่วน และนำเงินที่หักเอาไว้บางส่วนนั้นนำส่งสรรพากรในเดือนถัดไป ส่วนผู้รับเงินที่ถูกหักภาษี สามารถนำเงินที่ถูกหักไปเครดิตภาษีตอนปลายปีได้

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A จ่ายเงินค่าบริการล้างแอร์ให้นาย ก ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย 3% ตามกฎหมาย โดยค่าล้างแอร์อยู่ที่ 1,000 บาท ดังนั้นบริษัท A ต้องหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 1,000 x 3% = 30 บาท ยอดเงินที่บริษัท A ต้องจ่ายให้แก่นาย ก คือ 1,000 – 30 = 970 บาท โดยหักเอาไว้ 30 บาท และบริษัท A จะต้องนำเงิน 30 บาทดังกล่าวไปนำส่งสรรพากรด้วยแบบ ภงด.3 (กรณีผู้รับเงินเป็นบุคคลธรรมดา) หรือแบบ ภงด.53 (กรณีผู้รับเงินเป็นนิติบุคคล) ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

จากตัวอย่างข้างต้นนี้ในมุมของผู้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย นาย ก เมื่อถูกหักภาษีแล้วนาย ก จะได้รับหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย จากบริษัท A เพื่อเป็นหลักฐานว่านาย ก ได้ชำระภาษีไปล่วงหน้าบางส่วนแล้วจากการถูกหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 30 บาท และสมมติว่าตอนสิ้นปี นาย ก คำนวณภาษีได้ที่ 500 บาท นาย ก มีสิทธินำภาษีหัก ณ ที่จ่าย 30 บาทที่ถูกหักเอาไว้มาหักออกจากภาษีเงินได้ที่ต้องเสียได้ โดยสรุปแล้วนาย ก ต้องเสียภาษีตอนสิ้นปีที่ 500 – 30 = 470 บาท

ในมุมของผลประโยชน์ของประเทศ การหัก ณ ที่จ่าย จะช่วยให้รัฐบาลมีเงินไหลเข้ามาตลอดทั้งปี อย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้เข้ามาเฉพาะช่วงปลายปี ที่ถึงกำหนดต้องยื่นแบบภาษี ทำให้สามารถนำเงินดังกล่าวมาบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายต้องปฎิบัติอย่างไร

ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องทราบ 2 เรื่องหลักๆคือ

  1. ค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และต้องหักในอัตราเท่าใด
  2. ผู้รับเงินคือใคร เพื่อให้ทราบถึงตัวแบบภาษีที่ต้องยื่น

ค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และต้องหักในอัตราเท่าใด

สำหรับค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย และต้องหักในอัตราเท่าใดจะมีรายละเอียดที่เยอะมาก สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความนี้ได้ครับ : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายคืออะไร

หรือดูรายละเอียดจาก สรรพากร ได้เลยครับ

แต่โดยสรุปแล้ว ค่าใช้จ่ายที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายจะเป็นค่าบริการ ถ้าเป็นค่าสินค้าจะไม่ต้องมีการหัก ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด ค่าบริการที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายแบบสรุปอย่างย่อ จะมีดังต่อไปนี้

ค่าเช่า – หัก 5%

เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น กฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม – หัก 3%

ค่าจ้างทำของ – 3%

รางวัล – 5%

ค่าโฆษณา – 2%

ค่าขนส่ง 1%

ค่าบริการทั่วไป – 3%

เมื่อได้ทำการหัก ณ ที่จ่ายแล้ว ผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่ายจะต้องออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ถูกหัก ณ ที่จ่าย เพื่อให้เก็บเอาไว้เป็นหลักฐานตอนขอเครดิตภาษีตอนปลายปีด้วย

สำหรับตัวอย่างหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย สามารถดูที่ตัวอย่างในบทความนี้ได้เลยครับ : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายคืออะไร

ผู้รับเงินคือใคร เพื่อให้ทราบถึงตัวแบบภาษีที่ต้องยื่น

พนักงาน – ยื่นแบบ ภงด.1

บุคคลธรรมดา – ภงด.3

นิติบุคคล – ภงด.53

เงินปันผลที่จ่ายบุคคลธรรมดา – ภงด.2

เงินปันผลที่จ่ายนิติบุคคล – ภงด.53

ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายต้องปฎิบัติอย่างไร

เมื่อได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้แล้ว ผู้รับเงินหรือผู้ถูกหัก ณ ที่จ่าย ต้องเก็บหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายที่ได้รับจากผู้จ่ายเงินเอาไว้ เพื่อเป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีตอนปลายปี เนื่องจากเอกสารดังกล่าวคือหลักฐานที่แสดงว่าผู้ถูกหักภาษีได้จ่ายชำระภาษีบางส่วนเอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วผ่านการหัก ณ ที่จ่าย

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก มีรายได้จากการล้างแอร์ทั้งปีที่ 1,000,000 บาท ซึ่งตลอดทั้งปี นาย ก ถูกหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ทั้งสิ้น 30,000 บาท และนาย ก เก็บเอกสารหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้อย่างครบถ้วนทั้ง 30,000 บาท สมมตินาย ก คำนวณภาษีตอนสิ้นปีได้ที่ 100,000 บาท ดังนั้นยอดเงินที่นาย ก จะต้องจ่ายภาษีสุทธิตอนปลายปีคือ 70,000 บาท เนื่องจากถือว่าได้ชำระภาษีมาล่วงหน้าแล้ว 30,000 บาทนั่นเอง อย่างไรก็ตามเอกสารหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายต้องถูกเก็บเอาไว้อย่างครบถ้วน หากต้องการนำยอดมาเครดิตภาษี

สรุป

เป็นยังไงกันบ้างครับสำหรับเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย จริงๆแล้วก็ไม่ได้ยุ่งยากจนเกินไปนะครับ ขอเพียงให้เรามีความรู้ เราก็จะปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)

ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า

ช่วยแชร์บทความให้หน่อยครับ