ภาษีป้าย คืออะไร? เรามาทำความเข้าใจกัน

ภาษีป้าย
สอนบัญชีภาษีฟรี

รู้หรือไม่ หากคุณติดป้ายเพื่อโฆษณา ประกอบกิจการค้า เพื่อหารายได้ ป้ายดังกล่าวจะต้องถูกนำมาเสียภาษีที่เราเรียกว่า “ภาษีป้าย” ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจภาษีดังกล่าวกัน

ภาษีป้าย คืออะไร

ภาษีป้าย คือ ภาษีที่จัดเก็บจากป้าย และเสียภาษีให้กับท้องถิ่น ซึ่งป้ายดังกล่าวจะต้องมีการแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า เพื่อหารายได้หรือโฆษณา

ในจุดนี้หลายคนเพิ่งเปิดธุรกิจใหม่ และมีการทำป้ายโฆษณาร้านค้าของต้น ว่าป้ายดังกล่าวจะต้องนำมาเสียภาษีป้ายด้วย

ป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษี

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าป้ายทุกประเภทต้องเสียภาษี มีป้ายบางประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีดังนี้

  1. ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพ
  2. ป้ายที่แสดงเอาไว้ที่สินค้า คน หรือ สัตว์
  3. ป้ายที่แสดงเอาไว้ที่ยานพาหนะ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบดถนน รถแทรกเตอร์ เป็นต้น
  4. ป้ายที่แสดงไว้ในอาคารที่ใช้เพื่อประกอบการค้าซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้เพื่อหารายได้และแต่ละป้ายพื้นที่ไม่เกิน 3 ตารางเมตร
  5. ป้ายที่มีล้อเลื่อน
  6. ป้ายของผู้ประกอบการเกษตร (สำหรับการขายผลผลิตการเกษตราของตนเอง)
  7. ป้ายของราชการ องค์การของรัฐ วัด สมาคม มูลนิธิ โรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน
  8. ป้ายที่แสดงในงาน Event ที่จัดขึ้นชั่วคราว
  9. ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ
  10. ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีป้าย

ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีป้ายเรียงตามลำดับได้ดังนี้ (หากไม่พบตัว ก็ให้เลือกลำดับถัดไป เป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีป้าย)

  1. เจ้าของป้าย / ผู้ครอบครองป้าย
  2. เจ้าของอาคาร / ผู้ครอบครองอาคาร
  3. เจ้าของที่ดิน / ผู้ครอบครองที่ดิน

ตรงจุดนี้มีข้อสังเกตตรงที่ไม่ว่าคุณจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ก็จะต้องเสียภาษีดังกล่าวเช่นเดียวกัน หากเข้าเงื่อนไขในการเสียภาษี

อัตราภาษีป้าย

ป้ายอักษรไทยล้วน

ป้ายประเภทที่ 1 – ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน

  • ป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ : ภาษีป้าย 10 บาท / 500 ตารางเซ็นติเมตร
  • ป้ายทั่วไป : ภาษีป้าย 5 บาท / 500 ตารางเซ็นติเมตร

ตัวอย่างในการคำนวณ : ป้ายทั่วไปของ บริษัท วินวิน จำกัด ขนาดป้าย 100 ซม. x 300 ซม.

คำนวณพื้นที่รวมได้ 100 x 300 = 30,000 ตร.ซม.

หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี = 30,000 ตร.ซม. / 500 ตร.ซม. = 60

ภาษีป้ายที่ต้องเสีย = 60 x 5 = 300 บาท

ป้ายประเภทที่ 2 : ป้ายที่มีอักษรไทย ปนกับอักษรต่างประเทศ ปนกับภาพ และหรือเครื่องหมาย

  • ป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ : ภาษีป้าย 52 บาท / 500 ตารางเซ็นติเมตร
  • ป้ายทั่วไป : ภาษีป้าย 26 บาท / 500 ตารางเซ็นติเมตร

ตัวอย่างในการคำนวณ : ป้ายทั่วไปของ บริษัท วินวิน จำกัด (Win Win Co.,Ltd.) ขนาดป้าย 100 ซม. x 300 ซม.

คำนวณพื้นที่รวมได้ 100 x 300 = 30,000 ตร.ซม.

หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี = 30,000 ตร.ซม. / 500 ตร.ซม. = 60

ภาษีป้ายที่ต้องเสีย = 60 x 26 = 1,560 บาท

ป้ายภาษาต่างประเทศ

ป้ายประเภทที่ 3 : ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย หรือ อักษรไทยทั้งหมดหรือบางส่วนอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ

  • ป้ายที่มีข้อความเคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ : ภาษีป้าย 52 บาท / 500 ตารางเซ็นติเมตร
  • ป้ายทั่วไป : ภาษีป้าย 50 บาท / 500 ตารางเซ็นติเมตร

ตัวอย่างในการคำนวณ : ป้ายทั่วไปของ Win Win Co.,Ltd. ขนาดป้าย 100 ซม. x 300 ซม.

คำนวณพื้นที่รวมได้ 100 x 300 = 30,000 ตร.ซม.

หน่วยของป้ายที่ต้องเสียภาษี = 30,000 ตร.ซม. / 500 ตร.ซม. = 60

ภาษีป้ายที่ต้องเสีย = 60 x 50 = 3,000 บาท

ป้ายใดเมื่อคำนวณภาษีแล้ว จำนวนเงินต่ำกว่า 200 บาทให้เสียภาษีป้ายที่ 200 บาท

สรุปอัตราภาษีป้าย

การยื่นแบบเพื่อเสียภาษีป้าย

  1. ขั้นแรกจะต้องยื่นขออนุญาต โดยแจ้งขนาด ภาพถ่าย และแผนที่ตั้งของป้ายกับ เทศบาล สำนักงานเขต หรือ อบต.
  2. กรณีที่เป็นป้ายเดิม เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ภายในเดือน มีนาคม ของทุกปี
  3. กรณีที่มีการติดตั้งป้ายหลังเดือน มีนาคม ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายใน 15 วันนับแต่วันติดตั้งป้าย
  4. กรณีที่ติดตั้งป้ายปีแรก การจ่ายภาษีจะแบ่งเป็น 4 ช่วงดังนี้
  • ติดตั้งป้ายในช่วง มกราคม – มีนาคม จะเสียภาษีเต็มจำนวน 100% ของภาษีป้ายทั้งปี
  • ติดตั้งป้ายในช่วง เมษายน – มิถุนายน จะเสียภาษี 75% ของภาษีป้ายทั้งปี
  • ติดตั้งป้ายในช่วง กรกฎาคม – กันยายน จะเสียภาษี 50% ของภาษีป้ายทั้งปี
  • ติดตั้งป้ายในช่วง ตุลาคม – ธันวาคม จะเสียภาษี 25% ของภาษีป้ายทั้งปี

สรุป

ภาษีป้ายเป็นภาษีอีกประเภทนึงที่เจ้าของป้ายเพื่อการค้าการธุรกิจจะต้องเสีย หวังว่าผู้อ่านจะเข้าใจเกี่ยวกับการเสียภาษีประเภทนี้มากขึ้นนะครับ

ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)

ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า

 ช่วยแชร์บทความให้หน่อยครับ