ภงด 2 คืออะไร น่าจะเป็นคำถามในใจของหลายๆท่านเนื่องจากแบบภาษีตัวนี้ไม่ค่อยได้เจอเท่าไหร่ในชีวิตประจำวัน แบบ ภงด 2 คือแบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ต้องนำส่งกรมสรรพากร หากบริษัทมีรายจ่ายที่เป็นเงินได้ประเภท 40(3) และ 40(4) ก็จะต้องนำส่งแบบ ภงด 2 และชำระภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
ท่านใดต้องการบริการรับทำบัญชี ทางเรามีโปรแกรมบัญชีออนไลน์ให้ใช้ฟรี สามารถออกเอกสารหน้าตาสวยงามผ่านโปรแกรมได้ ดูรายละเอียดที่นี่ : รับทำบัญชี
ประวัติผู้เขียน / ผู้สอน
- ปริญญาตรีบัญชี ธรรมศาสตร์
- ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเงิน NIDA
- ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA)
- ประกาศนียบัตรการรายงานทางการเงินไทย (DipTFR)
- Audit Manager ที่ EY (ประสบการณ์ 8 ปี ใน Big4)
- ดูใบประกาศทางวิชาชีพ
- ดูรีวิวจากลูกค้า
- About me
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร
เนื่องจากการยื่นแบบ ภงด 2 นั้นเป็นการยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นก่อนที่จะไปทำความเข้าใจกับแบบ ภงด 2 เราต้องเข้าใจภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายก่อนเป็นอันดับแรก
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่ผู้จ่ายเงินต้องหักเงินผู้รับเอาไว้บางส่วนหากเป็นเงินได้ตามที่กฎหมายกำหนดให้หัก ณ ที่จ่าย และนำเงินที่หักเอาไว้นั้นนำส่งให้แก่กรมสรรพากร
เช่น หากบริษัทมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่นาย A ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 100,000 บาท บริษัทก็จะต้องหัก ณ ที่จ่าย 10% ตามกฎหมายสำหรับเงินปันผลจ่าย ดังนั้นทางบริษัทจึงต้องจ่ายเงินให้นาย A เพียง 90,000 บาท ส่วนที่เหลือ 10% จำนวน 10,000 บาทนั้นจะถูกหักไว้ และนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
ทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รวมทั้งอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ที่นี่ : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายคืออะไร
อธิบายเงินได้ประเภท 40(3) และ 40(4) และอัตราภาษี
ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่าจะมีเงินได้เพียง 2 ประเภทเท่านั้นที่จะต้องยื่นแบบโดยใช้แบบ ภงด 2 นั่นคือเงินได้ประเภท 40(3) และ 40(4) หากเป็นเงินได้ประเภทอื่น ก็จะใช้แบบภาษีอื่นๆแทนขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ และขึ้นอยู่กับนิติฐานะของผู้รับชำระเงิน
เงินได้ประเภท 40(3) คือ เงินได้พึงประเมินในรูปของ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าตอบแทนทรัพย์สินทางปัญญา หรือค่า Goodwill
เงินได้ประเภท 40(4) คือ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเงินได้ในรูปของดอกเบี้ย เงินปันผล และอื่นๆดังนี้
- ดอกเบี้ยพันธบัตร
- ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์สำหรับเงินฝากธนาคาร ในราชอาณาจักรซึ่งผู้มีเงินได้ได้รับรวมกันทั้งสิ้น เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น (ต้องหัก ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยรับทั้งสิ้น)
- ดอกเบี้ยเงินฝาก ประเภทประจำสำหรับเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร และสหกรณ์
- ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จาก บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยที่ได้จาก สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับ ให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม เช่น บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น
- ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน หรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้ เฉพาะที่ตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
- ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นผู้ออกโดยให้ถือว่าผู้ออกตั๋วเงิน ผู้ออกตราสารแสดงสิทธิในหนี้หรือ นิติบุคคลผู้โอนตั๋วเงินหรือตราสารดังกล่าว เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน
- เงินได้ที่เป็นเงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร หรือประโยชน์อื่นใดฯ
สำหรับอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายนั้นอยู่ที่ 15% ยกเว้นเงินปันผลอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอยู่ที่ 10%
ภงด 2 คืออะไร และวิธีการกรอกแบบ ภงด 2
ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ภงด 2 เป็นแบบนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ประเภท 40(3) และ 40(4) ซึ่งมีวิธีการในการกรอกแบบดังต่อไปนี้
ใบหน้า
ส่วนที่ 1 : ให้กรอกเลขผู้เสียภาษี รายละเอียดชื่อ ที่อยู่ของบริษัท เดือน ปีภาษีที่ยื่นแบบ และให้ติ๊กว่าเป็นการยื่นแบบปกติ หรือยื่นแบบเพิ่มเติม
ส่วนที่ 2 : ให้ติ๊กว่าใบแนบของ ภงด 2 ที่ยื่นนั้นมีจำนวนกี่แผ่น
ส่วนที่ 3 : ให้เขียนรายละเอียด จำนวนราย จำนวนเงินได้ที่จ่ายทั้งสิ้น และจำนวนเงินภาษีที่นำส่งทั้งสิ้น
ส่วนที่ 4 : ให้เซ็นโดยผู้นำรับผิดชอบนำส่งหัก ณ ที่จ่าย
ใบแนบ
ส่วนที่ 1 : ให้กรอกรายละเอียดเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และให้ติ๊กว่าเงินได้ที่จ่ายเป็นเงินได้ประเภทใด ดังนี้
- เงินได้ตามมาตรา 40(3) ค่าแห่งลิขสิทธิ์ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ และอื่นๆ
- เงินได้ตามมาตรา 40(4)ก ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยตั๋วเงิน และอื่นๆ
- เงินได้ตามมาตรา 40(4)ข เงินปันผล และอื่นๆ
- เงินได้ตามมาตรา 40(4)ช เงินผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น และอื่นๆ
ส่วนที่ 2 : ให้กรอกรายละเอียดผู้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย โดยให้กรอกเลขผู้เสียภาษี ชื่อ-นามสกุล ผู้ถูกหัก ณ ที่จ่าย วันเดือนปีที่จ่าย จำนวนเงินที่จ่าย จำนวนเงินหักภาษี ณ ที่จ่าย
ส่วนที่ 3 : ให้เซ็นโดยผู้นำรับผิดชอบนำส่งหัก ณ ที่จ่าย
ดูคำอธิบายเพิ่มเติมได้ที่ : กรมสรรพากร
สรุปแบบ ภงด 2
จากบทความนี้ แบบ ภงด 2 คือแบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ต้องนำส่งกรมสรรพากร หากบริษัทมีรายจ่ายที่เป็นเงินได้ประเภท 40(3) และ 40(4) ก็จะต้องนำส่งแบบ ภงด 2 และชำระภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ ไม่มากก็น้อยครับ
ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา
(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)
ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้าช่วยแชร์บทความให้หน่อยนะครับ