ค่ารับรอง สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่?

ค่ารับรอง
สอนบัญชีภาษีฟรี

ค่ารับรองถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามที่ไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในทางภาษีได้ อย่างไรก็ตามรู้หรือไม่ว่าค่ารับรองบางอย่างที่เข้าเงื่อนไข หลักเกณฑ์ของสรรพากร ก็สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ เช่นเดียวกัน

ค่ารับรองคืออะไร?

ค่ารับรอง ยกตัวอย่างเช่น ค่าที่พัก ค่าพาหนะ ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ตามกฎหมายจะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม เนื่องจากทางกรมสรรพากรเข้าใจดีว่าค่าใช้จ่ายประเภทดังกล่าวมีโอกาสมากที่จะมีการนำค่าใช้จ่ายส่วนตัวมาลงบันทึกบัญชี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับกิจการ

ค่ารับรองเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่?

เนื่องจากค่ารับรองเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม ดังนั้นค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในทางภาษีได้ จะต้องบวกกลับในการคำนวณภาษี (ยกเว้นค่ารับรองที่เข้าเงื่อนไข ซึ่งจะอธิบายในหัวข้อถัดไป) แต่อาจสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในทางบัญชีได้หากว่ามีการจ่ายจริง เราลองมาดูตัวอย่างในการบวกกลับทางภาษีกันดังนี้

สมมติบริษัท A มีรายได้ 100 บาท มีค่าใช้จ่าย (ที่ไม่รวมค่ารับรอง) 80 บาท และมีค่ารับรองจำนวน 5 บาท ดังนั้นงบกำไรขาดทุนของกิจการในทางบัญชีและทางภาษี สามารถแสดงได้ดังนี้

ค่ารับรอง

ในทางบัญชี หากว่าค่ารับรองหากว่าค่ารับรองดังกล่าวมีการจ่ายจริงก็จะต้องบันทึกรายการดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่าย ดังนั้นกำไรขาดทุนทางบัญชีนั้นจะอยู่ที่

กำไรขาดทุนทางบัญชี = รายได้ – ค่าใช้จ่าย (ที่ไม่รวมค่ารับรอง) – ค่ารับรอง

กำไรขาดทุนทางบัญชี = 100 – 80 -5

กำไรขาดทุนทางบัญชี = 15 บาท

ในทางภาษี เนื่องจากค่ารับรองถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม จึงไม่ต้องนำค่ารับรองมาเป็นค่าใช้จ่าย ดังนั้นกำไรขาดทุนทางภาษีนั้นจะอยู่ที่

กำไรขาดทุนทางบัญชี = รายได้ – ค่าใช้จ่าย (ที่ไม่รวมค่ารับรอง)

กำไรขาดทุนทางบัญชี = 100 – 80

กำไรขาดทุนทางภาษี = 20 บาท

แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครมานั่งทำงบกำไรขาดทุนทางภาษีอีกรอบ จึงต้องนำเอากำไรขาดทุนทางบัญชีมาตั้งต้น และทำรายการบวกกลับ เพื่อคำนวณหากำไรขาดทุนทางภาษีแทน เพื่อเสียภาษี ดังนี้

กำไรทางภาษี 20 บาท จะถูกนำไปคำนวณภาษีของบริษัทต่อไป

ดูวิธีการคำนวณภาษีได้ที่นี่ : ภาษีเงินได้นิติบุคคลคืออะไร?

หลักเกณฑ์ที่สามารถนำค่ารับรองมาเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายกำหนดให้ค่ารับรองที่เข้าเงื่อนไขนั้นสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ เงื่อนไขดังกล่าวมีดังนี้

  1. เป็นค่ารับรองที่จำเป็นตามธรรมเนียม ประเพณี ทางธุรกิจทั่วไป และบุคคลที่ได้การรับรองต้องไม่ใช่ลูกจ้าง เว้นแต่ ลูกจ้างดังกล่าวนั้นมีหน้าที่ในการเข้าร่วมการรับรองนั้นด้วย
  2. ค่ารับรองนั้นจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกิจการ
  3. เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ
  4. ค่ารับรองนั้นต้องมีผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งจ่าย และมีหลักฐานในการจ่ายประกอบ เช่น ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามหากจะนำค่ารับรองมาเป็นค่าใช้จ่ายก็จะมีลิมิต คือ สามารถนำค่ารับรองมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 0.3% ของรายได้ หรือ ของทุนที่ได้รับชำระแล้ว แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า (รายได้ หรือ ทุนชำระแล้ว) ทั้งนี้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท ยกตัวอย่างเช่น

ตัวอย่าง : ทุนชำระแล้ว 1,000,000 บาท รายได้ 2,000,000 บาท ค่ารับรอง 7,000 บาท

เปรียบเทียบ รายได้ 2,000,000 บาท > ทุนชำระแล้ว 1,000,000 บาท

ค่ารับรองที่สามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ = รายได้ (ตัวที่มากกว่า) x 0.3%

ค่ารับรองที่สามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ = 2,000,000 x 0.3%

ค่ารับรองที่สามารถเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ = 6,000 บาท

ค่ารับรองที่บันทึกบัญชีคือ 7,000 บาท แต่เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 6,000 จึงต้องบวกกลับ 1,000 บาท ในการคำนวณภาษีของบริษัท

สรุป

ค่ารับรองเป็นค่าใช้จ่ายอีกตัว ที่ต้องใช้ความรู้ทางบัญชี ภาษี เพื่อวางแผนภาษีให้ถูกต้อง เพื่อให้กิจการได้รับประโยชน์สูงสุด หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)

ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า

 ช่วยแชร์บทความให้หน่อยครับ