ทุนจดทะเบียนบริษัทคืออะไร?

ทุนจดทะเบียนบริษัท
สอนบัญชีภาษีฟรี

ทุนจดทะเบียนบริษัทคืออะไร?

 ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วคืออะไร?

 เราต้องชำระเงินตามทุนจดทะเบียนบริษัทเข้าไปจริงๆหรือไม่?

ทุนจดทะเบียนที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่?

คำถามเหล่านี้มักเป็นคำถามที่ผมถูกถามเป็นประจำ ในบทความนี้ผมจึงขออธิบายทุกแง่มุมในเรื่องของทุนจดทะเบียนบริษัท แบบเอาให้กระจ่างกันไปเลยครับ

ต้องการจดทะเบียนบริษัทด้วยตนเอง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ดูรายละเอียดที่ : จดทะเบียนบริษัทออนไลน์

ดูคำอธิบายบทความในรูปแบบ VDO :

ทุนจดทะเบียนบริษัท

ประวัติผู้เขียน / ผู้สอน

ธเณศ คอมพิวเตอร์

ความหมายของทุนจดทะเบียนบริษัท และทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว

ทุนจดทะเบียนบริษัท คือ จำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นตกลงกันว่าบริษัทจะต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนกี่บาท เพื่อให้ธุรกิจสามารถเริ่มต้นได้ โดยทุนจดทะเบียนดังกล่าวจะต้องจดแจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการจดทะเบียนบริษัท โดยตามกฎหมายจำนวนผู้ถือหุ้นจะต้องไม่น้อยกว่า 2 คนขึ้นไป โดยแบ่งจำนวนหุ้นตามสัดส่วนที่แต่ละคนลงทุน โดยมูลค่าของหุ้น (ราคาพาร์) จะต้องไม่น้อยกว่า 5 บาท

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้ครับ บริษัท บัญชีน้ำดี จำกัด เพิ่งจดทะเบียนโดยกำหนดทุนจดทะเบียนบริษัทที่ 1,000,000 บาท แบ่งเป็นจำนวน 10,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท (ราคาพาร์)

ทุนจดทะบียนบริษัท

ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว คือ จำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนชำระค่าหุ้นกันเข้ามาจริงๆให้แก่บริษัท เพื่อให้บริษัทนำเงินทุนดังกล่าวไปใช้ในการดำเนินกิจการ ซึ่งตามกฎหมายระบุเอาไว้ว่าในการจดทะเบียนบริษัทต้องชำระค่าหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้ครับ บริษัท บัญชีน้ำดี จำกัด เพิ่งจดทะเบียนโดยกำหนดทุนจดทะเบียนบริษัทที่ 1,000,000 บาท แบ่งเป็นจำนวน 10,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท โดยผู้ถืหุ้นนาย A มีจำนวนหุ้น 5,000 หุ้น ผู้ถือหุ้นนาย B มีจำนวนหุ้น 3,000 หุ้น ผู้ถือหุ้นนาย C มีจำนวนหุ้น 2,000 หุ้น โดยเลือกที่จะชำระค่าหุ้นตามขั้นต่ำของกฎหมายคือร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน สามารถสรุปเป็นภาพได้ดังนี้

ผู้ถือหุ้น

นาย A จะถือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เนื่องจากมีจำนวนหุ้น และจะต้องใส่เงินลงมาในบริษัทมากที่สุดที่ 5,000 x 25 = 125,000 บาท อย่างไรก็ตามถ้าบริษัทมีกำไรและจ่ายเงินปันผลคืนมาให้แก่ผู้ถือหุ้น นาย A ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็จะได้รับเงินปันผลสูงสุด ตามสัดส่วนของเงินลงทุน

นาย B จะต้องใส่เงินลงมาในบริษัทที่ 3,000 x 25 = 75,000 บาท นาย C จะต้องใส่เงินลงมาในบริษัทที่ 2,000 x 25 = 50,000 บาท

จากตัวอย่างข้างต้นนี้สรุปได้ว่าบริษัท บัญชีน้ำดี จำกัด มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท และมีทุนชำระแล้ว 250,000 บาท

ท่านใดสนใจศึกษาเพิ่มเติมคลิ๊กเลย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ผู้ถือหุ้นต้องชำระทุนจดทะเบียนบริษัทครบเต็มจำนวน 100% เมื่อไหร่

ตามกฎหมายระบุเอาไว้เพียงว่าในการจดทะเบียนบริษัทต้องชำระค่าหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน ดังนั้นในการจดทะเบียนผู้ถือหุ้นจะสามารถเลือกได้ว่าจะชำระค่าหุ้นเป็นจำนวนเท่าไหร่ตั้งแต่ ร้อยละ 25-100 อย่างไรก็ตามตามกฎหมายไม่ได้มีข้อกำหนดว่าผู้ถือหุ้นจะต้องชำระค่าหุ้นเต็มจำนวนเมื่อไหร่ ดังนั้นหากผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นไปแล้วร้อยละ 25 ตอนจดทะเบียนบริษัท จะไม่ชำระค่าหุ้นเพิ่มก็ได้หากเงินทุนหมุนเวียนในบริษัทนั้นเพียงพอแล้ว

ทุนจดทะเบียนบริษัทที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่

ผมคิดว่าทุนจดทะเบียนที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละธุรกิจว่าต้องใช้เงินลงทุนมากหรือน้อยขนาดไหน ธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนมากก็ควรมีทุนจดทะเบียนที่สูง ธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนน้อยก็ควรมีทุนจดทะเบียนที่ต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกัน

ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ขายคอนโด ธุรกิจนี้แน่นอนว่าต้องใช้เงินลงทุนสูง หากเราลองประเมินดูแล้วว่าโครงการที่บริษัทต้องการจะทำนั้นต้องใช้เงินลงทุนในการสร้างคอนโดทั้งสิ้น 100 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนของบริษัทก็ควรอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท เป็นต้นครับ

สำหรับท่านใดที่ต้องการจดทะเบียนบริษัท คลิ๊กเลย

ผู้ถือหุ้นต้องจ่ายเงินค่าทุนจดทะเบียนบริษัทไปจริงๆหรือไม่ตอนจดทะเบียนบริษัท

ณ ตอนนี้จดทะเบียนผู้ถือหุ้นไม่ต้องจ่ายค่าทุนจดทะเบียนให้ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้านะครับ ประเด็นนี้หลายๆคนมักเข้าใจผิดว่าจะต้องนำเงินค่าทุนจดทะเบียนนำไปจ่ายตอนจดทะเบียน

อย่างไรก็ตามก่อนจดทะเบียน กรรมการของบริษัทควรรวบรวมเงินจากผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนเงินลงทุนของแต่ละคน และภายหลังจดทะเบียนเสร็จให้นำเงินที่รวบรวมดังกล่าวไปเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท เพื่อให้เป็นทุนชำระแล้วเริ่มแรกของบริษัทตามที่ได้จดทะเบียนเอาไว้ โดยบริษัทต้องแยกเงินของบริษัทและเงินส่วนตัวของผู้ถือหุ้นออกจากกันให้ชัดเจน หากมีรายได้ของบริษัทก็ต้องโอนเข้ามาในบัญชีของบริษัทที่เปิดเอาไว้ หากมีค่าใช้จ่ายของบริษัทก็สามารถนำเงินในบัญชีดังกล่าวไปใช้จ่ายได้ในการดำเนินกิจการได้

ผลกระทบหากผู้ถือหุ้นไม่ได้ลงเงินจริงหลังจากจดทะเบียน

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันก็มีหลายบริษัทที่ไม่ได้ใส่เงินจริงๆเข้าไปในบริษัท (ภาษาในวงการบัญชีจะเรียกกรณีนี้ว่าจดทะเบียนบริษัทลอย) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการทำบัญชีทำให้ทำบัญชียากขึ้น และทำให้บริษัทต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มเติมอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A ทุนจดทะเบียนบริษัท และทุนชำระแล้ว 1,000,000 บาท แต่ผู้ถือหุ้นไมได้ใส่เงินลงไปในบริษัทจริงๆเลย ในการทำบัญชีแทนที่บริษัทจะมีเงิน 1,000,000 บาท ตามทุนจดทะเบียน แต่ในความป็นจริงบริษัทไม่ได้มีเงินดังกล่าวเพราะผู้ถือหุ้นไม่ได้ใส่เงินลงมา นักบัญชีจะบันทึกรายการดังกล่าวเป็น “เงินให้กู้ยืมกรรมการ” ซึ่งตามกฎหมายภาษีอากรจำนวนเงินดังกล่าวจะต้องนำมาคิดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าเงินฝากประจำ (สมมติคิดดอกเบี้ยที่ 1% ต่อปี) ซึ่งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นนี้เองจะต้องถูกนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะที่ 3.3% ต่อปี จากตัวอย่างทางบริษัทจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มเติมดังนี้

ภาษีธุรกิจเฉพาะ = เงินกู้ยืมกรรมการ x อัตราดอกเบี้ย x อัตราภาษี

ภาษีธุรกิจเฉพาะ = 1,000,000 x 1% x 3.3% = 330 บาท

ทางบริษัทจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มขึ้น 330 บาท จากการที่ผู้ถือหุ้นไม่ได้ใส่เงินลงไปจริงๆ

เรียนรู้เพิ่มเติม : จดทะเบียนนิติบุคคลต้องรู้อะไรก่อนบ้าง?

สรุปเกี่ยวกับทุนจดทะเบียนบริษัท

ข้อแนะนำของผมคือก่อนจดทะเบียนบริษัทเราควรประเมินกันก่อนว่าธุรกิจของเรานั้นต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นประมาณกี่บาทถึงจะเพียงพอ และเลือกทุนจดทะเบียนบริษัทให้เหมาะสมตามธุรกิจของเรา และหลังจากจดทะเบียนบริษัทเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ควรไปเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท และโอนเงินทุนชำระแล้วตามที่ได้แจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในบัญชีธนาคารดังกล่าว

โดยรายได้ รายจ่ายของบริษัทที่เกิดขึ้นให้ผ่านบัญชีธนาคารของบริษัท เพื่อจะได้เป็นการแยกเงินส่วนตัวของผู้ถือหุ้น และของบริษัทออกจากกัน ผู้ทำบัญชีจะได้ทำบัญชีง่ายขึ้นครับเพราะเงินไม่ปนกัน

เข้าใจเรื่องทุนจดทะเบียนกันแล้ว ท่านใดสนใจศึกษาเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัทดูข้อมูลแบบละเอียดทุกขั้นตอนได้ที่นี่ครับเราสอนให้ตั้งแต่ต้นจนจบ จดทะเบียนบริษัทออนไลน์

ท่านใดสงสัยตรงไหนติดต่อมาได้เลยนะครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา

(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)

ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้า

ช่วยแชร์บทความให้หน่อยครับ