จดทะเบียนนิติบุคคลต้องรู้อะไรก่อนบ้าง

จดทะเบียนนิติบุคคล

ผมคิดว่าก่อนที่เราจะจดทะเบียนนิติบุคคลเราควรทราบก่อนว่าความแตกต่างในการทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดากับการทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลนั้นมีความแตกต่างกันในเรื่องใดบ้าง

ดูคำอธิบายบทความในรูปแบบ VDO :

จดทะเบียนบริษัทต้องรู้อะไรก่อนบ้าง

การทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลนั้นสามารถแบ่งได้เป็นอีก 2 ประเภทหลักๆนั่นคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด เราลองมาดูสรุปความแตกต่างกันได้เลยครับดังนี้

เปรียบเทียบ บุคคลธรรมดา vs นิติบุคคล

จำนวนเจ้าของ

การดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาจะมีเจ้าของเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น แต่ถ้าหากจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดตามกฎหมายจะต้องมีผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และถ้าจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายจะต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป

จำนวนของเจ้าของจะส่งผลโดยตรงต่อฐานทุนของธุรกิจ เพราะถ้ายิ่งมีผู้ร่วมลงทุนด้วยมาก ฐานของทุนก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้สามารถทำธุรกิจขนาดที่ใหญ่ขึ้นได้ ดังนั้นการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด) ก็จะทำให้ฐานเงินทุนของกิจการนั้นมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น อันนี้จะถือเป็นข้อดีประการแรกของการจดทะเบียนบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อเปรียบเทียบกับการเป็นบุคคลธรรมดา

ฐานภาษีเงินได้

บุคคลธรรมดาจะเสียภาษีจากฐานเงินได้สุทธิ ซึ่งตัวเงินได้สุทธิมีสูตรในการคำนวณดังต่อไปนี้

เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน

เงินได้พึงประเมิน คือ รายได้ที่บุคคลได้มาจากการทำธุรกิจ

ค่าใช้จ่าย ตามกฎหมายจะสามารถเลือกหักได้ 2 รูปแบบ คือ 1.หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 2.หักค่าใช้จ่ายตามจริง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ บริษัทจำกัด) จะเสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ ซึ่งมีสูตรในการคำนวณดังนี้

กำไรสุทธิ = รายได้ – ค่าใช้จ่าย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

เมื่อลองเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้ระหว่างบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลได้ดังนี้

เปรียบเทียบอัตราภาษีบุคคล vs นิติบุคคล

จริงๆแล้วอาจไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ตรงๆซะทีเดียวเนื่องจากฐานภาษีเป็นคนละฐานกัน โดยภาษีเงินได้ของบุคคลเสียภาษีจากฐานเงินได้สุทธิ แต่ภาษีของนิติบุคคลเสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ แต่ผมคิดว่าสามารถนำมาใช้วิเคราะห์คร่าวๆได้ก่อนจดทะเบียนนิติบุคคล

จะเห็นได้ว่าหากกำไรสุทธิของธุรกิจอยู่ในช่วงที่ไม่เกิน 750,000 บาท ต่อปี อัตราภาษีเงินได้ของบุคคลจะต่ำกว่าของนิติบุคคล ดังนั้นถ้าคุณเน้นในเรื่องการประหยัดภาษี หากว่าธุรกิจนั้นมีกำไรไม่มากคุณก็ไม่ควรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพราะทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาเสียภาษีน้อยกว่า

แต่ถ้าหากว่ากำไรของธุรกิจ สูงกว่า 1,000,000 บาทขึ้นไปอัตราภาษีเงินได้ของบุคคลจะเริ่มสูงกว่าภาษีของนิติบุคคล เนื่องจากอัตราภาษีของนิติบุคคลนั้นอยู่ที่ 15%-20% ในขณะที่อัตราภาษีเงินได้ของบุคคลจะขึ้นไปสูงถึง 35% ดังนั้นหากว่าธุรกิจมีกำไรสูงการจดทะเบียนนิติบุคคลมีแนวโน้มที่จะประหยัดภาษีมากกว่า

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าจริงๆแล้วอาจไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ตรงๆซะทีเดียวเนื่องจากฐานภาษีเป็นคนละฐานกัน ดังนั้นหากคุณต้องการเปรียบเทียบว่าธุรกิจของคุณนั้นหากทำในรูปแบบบูคคลธรรมดาจะเสียภาษีประมาณเท่าไหร่ หากดำเนินธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลจะเสียภาษีประมาณเท่าไหร่ผมแนะนำให้ลองคำนวณดูจริงๆเลยครับ เราจะได้พอเห็นภาพก่อนจดทะเบียนนิติบุคคล

ความน่าเชื่อถือ

แน่นอนว่าการจดทะเบียนเป็นบริษัทนั้นจะมีความน่าจะเชื่อมากกว่าการประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดามาก เนื่องจากธรรมชาติของ SME ไทยจะให้ความเชื่อมั่นกับบริษัทมากกว่าบุคคลธรรมดา เพราะบริษัทจะมีฐานทุนที่มากกว่าและจะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองงบการเงินจากผู้สอบบัญชี ทำให้ดูมีความโปร่งใส และมีความน่าเชื่อถือมากกว่าบุคคลธรรมดา

ซึ่งแน่นอนว่าความน่าเชื่อถือนี่เองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจนั่นเอง

เรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องทุนจดทะเบียน ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ครับ : ทุนจดทะเบียนบริษัท

ความรับผิด

ข้อดีอย่างหนึ่งของการจดทะเบียนเป็นบริษัทนั่นคือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะรับผิดจำกัด กล่าวคือผู้ถือหุ้นจะร่วมรับผิดเพียงเท่าจำนวนเงินที่ตนลงทุนเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น หากเกิดคดีความที่บริษัทถูกฟ้องร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย ค่าเสียหายดังกล่าวจะไม่สามารถมาเรียกเก็บจากผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ เนื่องจากตามกฎหมายบริษัทจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้นและถือเป็นคนละบุคคลกัน

หากจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนจะรับผิดจำกัดยกเว้นตัวหุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องรับผิดไม่จำกัด และหากดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา แน่นอนว่าตัวบุคคลนั้นๆจะต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดหากมีหนี้สิน หรือคดีความฟ้องร้องต่างๆเกิดขึ้น

จากที่ได้อธิบายไปแล้ว ในมุมของความรับผิดการจดทะเบียนเป็นบริษัทนั้นดีที่สุดเนื่องจากผู้ถือหุ้นทุกคนรับผิดจำกัด

การนำส่งงบการเงิน (กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล)

หากคุณจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หน้าที่ที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือทางคุณจะต้องทำบัญชี และจะต้องนำส่งงบการเงินที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากรเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นในส่วนของบัญชีจะมี 2 คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคุณนั่นก็คือผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี

ผู้ทำบัญชีจะมีหน้าที่รวบรวมเอกสารของบริษัทเป็นประจำทุกเดือน เพื่อนำข้อมูลเอกสารไปเรียบเรียงและบันทึกบัญชี รวมทั้งดำเนินการนำส่งภาษีต่างๆให้แก่บริษัท พอถึงสิ้นปีผู้ทำบัญชีก็จะส่งข้อมูลให้แก่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบว่าข้อมูลที่บันทึกบัญชีมาถูกต้องและตรงตามเอกสารหรือไม่ หากผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องก็จะดำเนินการออกงบการเงิน และเซ็นรับรองลงบนงบการเงินให้แก่บริษัท หลังจากนั้นผู้ทำบัญชีก็จะนำงบการเงินที่มีลายเซ็นของผู้สอบบัญชีไปนำส่งที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร

ในเรื่องของการจัดทำงบการเงินนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีนั่นคือเจ้าของบริษัทจะทราบถึงฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกิจการ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนและตัดสินใจต่างๆในเชิงธุรกิจได้ สำหรับข้อเสียคือการจดทะเบียนนิติบุคคลจะมีความยุ่งยากเพิ่มเติมขึ้นมาในการจัดการทางด้านเอกสารต่างๆ โดยจะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในการจ้างผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี มาดำเนินการปิดงบการเงินให้แก่บริษัท

ค่าใช้จ่ายทางด้านบัญชี

จากหัวข้อก่อน เราได้ทราบกันแล้วว่าหากจดเป็นนิติบุคคลจะต้องนำส่งงบการเงิน ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายทางด้านบัญชีตามมา คือ ค่าทำบัญชี และ ค่าตรวจสอบบัญชี

  1. ค่าทำบัญชี เป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ผู้ทำบัญชี ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ทำบัญชีจะคิดค่าบริการทำบัญชีเป็นรายเดือนตามปริมาณเอกสารของบริษัทว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยเฉลี่ยแล้วบริษัทเพิ่งเปิดใหม่ ยังมีรายการไม่มาก ค่าทำบัญชีเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 3,000 บาท ต่อเดือน
  2. ค่าตรวจสอบบัญชี เป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ผู้ตรวจสอบบัญชี ที่มาตรวจสอบและเซ็นงบการเงินประจำปีให้ นิติบุคคลจึงจะสามารถนำงบการเงินไปยื่นกับหน่วยงานราชการได้ ดังนั้นค่าตรวจสอบบัญชีจะคิดเป็นรายปี โดยเฉลี่ยแล้วบริษัทเพิ่งเปิดใหม่ ยังมีรายการไม่มาก ค่าตรวจสอบบัญชีเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อปี
  3. ดังนั้นรวมค่าใช้จ่ายทางด้านบัญชี (ค่าทำบัญชี + ค่าตรวจสอบบัญชี) สำหรับนิติบุคคลที่เปิดใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 30,000 – 40,000 บาท ต่อปี

สรุปสิ่งที่ต้องรู้ก่อนจดทะเบียนนิติบุคคล

ก่อนจดทะเบียนนิติบุคคลผมคิดว่าเราควรมีข้อมูลให้รอบด้านก่อนว่าการจดทะเบียนนิติบุคคลมีข้อดี และข้อเสีย แตกต่างกันอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา หัวข้อทั้ง 5 ข้อที่ผมเลือกมาอธิบายนี้เป็นหัวข้อหลักๆ เพื่อทำให้ทุกท่านได้เห็นภาพในการทำธุรกิจในรูปแบบบริษัทมากยิ่งขึ้น หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ

ท่านใดที่สนใจจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ด้วยตนเอง คลิ๊กมาได้เลยเราสอนให้ตั้งแต่ต้นจนจบ สามารถทำกันได้เองครับ สอนจดทะเบียนบริษัทออนไลน์

รับทำบัญชี

ช่วยแชร์บทความให้หน่อยครับ