จุดคุ้มทุน หรือ Break Even Point คือสิ่งที่มีความสำคัญลำดับต้นๆในการทำธุรกิจ ว่าเราจะต้องขายให้ได้ขนาดไหน ธุรกิจจึงจะไม่ขาดทุน ซึ่งหากเราลองคำนวณปริมาณการขาย ณ จุดคุ้มทุนออกมาแล้ว เป็นไปได้ยากที่จะขายให้ได้ถึงจุดนั้น เราจะได้ตัดสินใจไม่ทำธุรกิจนั้นตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องแบกรับผลขาดทุนที่จะตามมา
ในบทความนี้เราจะมาอธิบายในทุกแง่มุมของจุดคุ้มทุน (Break Even Point) กัน
จุดคุ้มทุน (Break Even Point) คืออะไร?
จุดคุ้มทุน (Break Even Point) คือปริมาณการขายที่กิจการจะต้องทำให้ได้ เพื่อให้กิจการนั้นไม่ขาดทุน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ปริมาณการขายที่ทำให้กิจการมีรายได้เท่ากับค่าใช้จ่าย (ไม่ขาดทุน) นั่นเอง
สูตรการคำนวณจุดคุ้มทุน (Break Even Point)
สูตรในการคำนวณปริมาณขาย ณ จุดคุ้มทุนแสดงได้ดังนี้
รายได้ = ค่าใช้จ่าย
(ปริมาณขาย x ราคาขายต่อหน่วย) = [ค่าใช้จ่ายคงที่ + ค่าใช้จ่ายผันแปร]
(ปริมาณขาย x ราคาขายต่อหน่วย) = [ค่าใช้จ่ายคงที่ + (ปริมาณขาย x ต้นทุนขายต่อหน่วย)]
(ปริมาณขาย x ราคาขายต่อหน่วย) – (ปริมาณขาย x ต้นทุนขายต่อหน่วย) = ค่าใช้จ่ายคงที่
ปริมาณขาย x (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนขายต่อหน่วย) = ค่าใช้จ่ายคงที่
ปริมาณขาย (ณ จุดคุ้มทุน) = ค่าใช้จ่ายคงที่ / (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนขายต่อหน่วย)
สูตรในการคำนวณ ราคาขายต่อหน่วย ณ จุดคุ้มทุนแสดงได้ดังนี้
รายได้ = ค่าใช้จ่าย
(ปริมาณขาย x ราคาขายต่อหน่วย) = [ค่าใช้จ่ายคงที่ + ค่าใช้จ่ายผันแปร]
(ปริมาณขาย x ราคาขายต่อหน่วย) = [ค่าใช้จ่ายคงที่ + (ปริมาณขาย x ต้นทุนขายต่อหน่วย)]
ราคาขายต่อหน่วย = [ค่าใช้จ่ายคงที่ + (ปริมาณขาย x ต้นทุนขายต่อหน่วย)] / ปริมาณขาย
หมายเหตุ :
ค่าใช้จ่ายคงที่ คือ ค่าใช้จ่ายที่จะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่ากิจการจะขายสินค้าได้หรือไม่ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ค่าเช่าร้านค้า เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น
ค่าใช้จ่ายผันแปร คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่สัมพันธ์กับยอดขาย กล่าวคือหากกิจการขายมากก็จะมีค่าใช้จ่ายผันแปรมาก หากกิจการขายได้น้อยก็จะมีค่าใช้จ่ายผันแปรน้อยตามไปด้วย เช่น ต้นทุนของสินค้า เป็นต้น
วิธีการคำนวณจุดคุ้มทุน (Break Even Point)
เราลองมาดูวิธีการในการคำนวณปริมาณขาย ณ จุดคุ้มทุนกันได้จากตัวอย่างนี้
ตัวอย่าง : ร้านขายเค้กแห่งหนึ่งมีค่าเช่าที่ 1,000 บาท/เดือน เค้กขายในราคาชิ้นละ 50 บาท ต้นทุนต่อชิ้นอยู่ที่ 30 บาท จงคำนวณหาปริมาณเค้กที่ขายเพื่อให้ร้านเค้กแห่งนี้คุ้มทุน
ปริมาณขาย (ณ จุดคุ้มทุน) = ค่าใช้จ่ายคงที่ / (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนขายต่อหน่วย)
ปริมาณขาย (ณ จุดคุ้มทุน) = 1,000 / (50 – 30)
ปริมาณขาย (ณ จุดคุ้มทุน) = 50 ชิ้น
เราลองมาดูวิธีการในการคำนวณราคาขายต่อหน่วย ณ จุดคุ้มทุนกันได้จากตัวอย่างนี้
ตัวอย่าง : ร้านขายเค้กแห่งหนึ่งมีค่าเช่าที่ 1,000 บาท/เดือน คาดว่าจะขายเค้กได้ 60 ชิ้นต่อวัน ต้นทุนต่อชิ้นอยู่ที่ 30 บาท จงคำนวณหาราคาขายเค้กต่อหน่วยเพื่อให้ร้านเค้กแห่งนี้คุ้มทุน
ราคาขายต่อหน่วย = [ค่าใช้จ่ายคงที่ + (ปริมาณขาย x ต้นทุนขายต่อหน่วย)] / ปริมาณขาย
ราคาขายต่อหน่วย = [1,000 + (60 x 30)] / 60
ราคาขายต่อหน่วย = 46.67 บาท / เค้ก 1 ชิ้น
จากตัวอย่างแรกหากนำมาสรุปเป็นกราฟ จะเห็นได้ว่ายิ่งขายน้อยก็จะยิ่งขาดทุน จนถึงจุด 50 ชิ้นเป็นจุดที่ขายได้คุ้มทุน และหากขายได้เกิน 50 ชิ้น กิจการก็จะเริ่มมีกำไร
วิธีในการลดจุดคุ้มทุน (Break Even Point)
หากก่อนเริ่มธุรกิจหากเราลองคำนวณจุดคุ้มทุน (Break Even Point) ออกมาแล้วพบว่าเป็นไปได้ยากที่จะสามารถทำปริมาณขายได้ตาม ณ จุดคุ้มทุนที่คำนวณมา เราก็จะต้องมาดูวิธีในการลดจุดคุ้มทุนลง หากเราวิเคราะห์สูตรในการคำนวณจุดคุ้มทุน ดังนี้
ปริมาณขาย (ณ จุดคุ้มทุน) = ค่าใช้จ่ายคงที่ / (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนขายต่อหน่วย)
จะเห็นได้ว่ามีตัวแปร 3 ตัวหลักที่ส่งผลต่อปริมาณการขาย ณ จุดคุ้มทุน นั่นคือ ค่าใช้จ่ายคงที่, ราคาขายต่อหน่วยและ ต้นทุนขายต่อหน่วย ดังนั้นหากเราต้องการลดจุดคุ้มทุนลง เราก็จะต้องดำเนินการดังนี้
- พยายามหาทางลดค่าใช้จ่ายคงที่ของกิจการให้ลดลง เช่น การเจรจาต่อรองของลดค่าเช่า, ใช้น้ำ ไฟฟ้า ให้คุ้มค่ามากที่สุด, จ่ายเงินเดือนพนักงานไม่สูงจนเกินไป เป็นต้น
- พยายามหาทางปรับเพิ่มราคาขายต่อหน่วยของสินค้าของกิจการ เช่น การปรับให้สินค้ามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับของคู่แข่งสามารถเพิ่มราคาขายได้ เป็นต้น
- พยายามหาทางปรับลดต้นทุนขายต่อหน่วยของสินค้าของกิจการ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าให้มีต้นทุนที่ต่ำลง เป็นต้น
สรุป
จะเห็นได้ว่าการคำนวณจุดคุ้มทุน หรือ Break Even Point เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ในเรื่องการทำธุรกิจ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน ที่กำลังเริ่มทำธุรกิจนะครับ
ติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้คำปรึกษา
(คุณวิน 087-6732884 Line ID : @618kssyt)
ติดต่อ Line ดูรีวิวจากลูกค้าช่วยแชร์บทความให้หน่อยครับ