เมื่อคุณจดทะเบียนเป็นบริษัทแล้วจะมีภาษีที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกันหลายตัว ซึ่งคุณจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อย่างนั้นจะมีเบี้ยปรับเงินเพิ่มตามมาอย่างแน่นอนหากทำไม่ถูกต้อง เพราะสรรพากรไม่เคยปราณีใคร ดังนั้นคุณจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับภาษีต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วยหากต้องการจดทะเบียนบริษัท ภาษีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของบริษัทผมสรุปตัวหลักๆมาให้ดังต่อไปนี้
ประวัติผู้เขียน / ผู้สอน
- ปริญญาตรีบัญชี ธรรมศาสตร์
- ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์การเงิน NIDA
- ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA)
- ประกาศนียบัตรการรายงานทางการเงินไทย (DipTFR)
- Audit Manager ที่ EY (ประสบการณ์ 8 ปี ใน Big4)
- ดูใบประกาศทางวิชาชีพ
- ดูรีวิวจากลูกค้า
- About me
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากนิติบุคคล เช่น บริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นต้น โดยฐานภาษีจะคำนวณจากกำไรสุทธิทางภาษี ที่กิจการทำมาหาได้ ดังนั้นหากคุณจดทะเบียนเป็นบริษัท และมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจ บริษัทของคุณก็ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
อัตราภาษีในปัจจุบันสรุปได้ดังนี้
จะเห็นได้ว่าอัตราภาษีเงินได้จะแบ่งเป็น 2 กรณี นิติบุคคลที่เป็น SME กับ นิติบุคคลที่ไม่ใช่ SME
นิติบุคคลที่เป็น SME คือนิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งกำไรในช่วง 3 แสนบาทแรกจะได้รับยกเว้นภาษี กำไรในช่วง 3 แสน – 3 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรา 15% ส่วนกำไรที่เกิน 3 ล้านบาท ขึ้นไปจะเสียภาษีในอัตรา 20%
นิติบุคคลที่ไม่ใช่ SME คือเป็นนิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วเกิน 5 ล้านบาท หรือรายได้รวมเกิน 30 ล้านบาท
ทุกๆบริษัทจะต้องนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้แบบ ภงด.50 โดยยื่นภายใน 150 วันนับจากวันที่ปิดงบการเงิน
ในบทความถัดๆไปเดี๋ยวผมจะมาอธิบายเพิ่มเติมพร้อมยกตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลให้อีกทีนึงครับ
เรียนรู้เพิ่มเติมจากสรรพากร : ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat)
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักร ตามกฎหมายมีข้อกำหนดว่าหากยอดขายของบริษัทนั้นเกิน 1.8 ล้านบาท ต่อปี บริษัทจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร แต่หากว่ายอดขายของบริษัทคุณนั้นยังไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ต่อปี ทางคุณจะสามารถเลือกได้ว่าจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
สำหรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 7% ซึ่งภายในไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป บริษัทจะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร โดยใช้แบบ ภพ.30 ซึ่งมีสูตรในการคำนวณดังต่อไปนี้
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำส่งสรรพากร = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ
ภาษีขาย = มูลค่าการขาย x 7%
ภาษีซื้อ = มูลค่าการซื้อ x 7%
สำหรับท่านไหนที่ยังไม่เห็นภาพยังไม่เป็นไรนะครับ เดี๋ยวในบทความถัดๆไปผมจะมีการอธิบายเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มแบบลงรายละเอียดในทุกแง่มุมให้อีกทีพร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ
เรียนรู้เพิ่มเติมจากสรรพากร : ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat)
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายคือภาษีที่เกิดขึ้นเมื่อบริษัทได้ไปจ่ายค่าบริการต่างๆให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้หัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ และจำนวนเงินที่หัก ณ ที่จ่ายเอาไว้นั้นจะต้องนำส่งสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปโดยใช้แบบ ภงด.3 (หัก ณ ที่จ่ายบุคคลธรรมดา) หรือ ภงด.53 (หัก ณ ที่จ่ายนิติบุคคล)
เงินเดือนพนักงาน – หักตามอัตราก้าวหน้า
ค่าบริการ – หัก ณ ที่จ่าย 3%
ค่าเช่า – หัก ณ ที่จ่าย 5%
ค่าขนส่ง – หัก ณ ที่จ่าย 1%
ค่าโฆษณา – หัก ณ ที่จ่าย 2%
ต่างชาติ – หัก ณ ที่จ่าย 15%
สำหรับบทความที่จะอธิบายเรื่องภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย อย่างละเอียด พร้อมตัวอย่างประกอบ ติดตามได้ในบทความถัดๆไปนะครับ เดี๋ยวผมจะทยอยลงเรื่อยๆครับ
เรียนรู้เพิ่มเติมจากสรรพากร : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
แนะนำหลักสูตรเรียนออนไลน์
สำหรับท่านใดที่สนใจเรียนหลักสูตรออนไลน์ ดูรายละเอียดได้ดังนี้
บัญชีภาษีสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ เน้นปูพื้นฐานให้สำหรับผู้ที่เพิ่งจดจัดตั้งบริษัทใหม่ แต่ยังไม่มีความรู้อะไรเลย
อบรมบัญชีออนไลน์ สามารถเก็บชั่วโมง CPD CPA ได้ (สำหรับผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี)
ภาษีธุรกิจเฉพาะ
โดยปกติแล้วตามกฎหมายธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะมีดังต่อไปนี้
- การธนาคาร
- การประกอบธุรกิจเงินทุน
- การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
- การประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
- การรับประกันชีวิต
- การรับจำนำ
- การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
- การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
- การซื้อและขายคืนหลักทรัพย์
- การประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง
โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัททั่วๆไปจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาษีตัวนี้ แต่จะเกี่ยวข้องได้ใน 2 กรณีคือ
- บริษัทมีการให้กู้ยืมเงิน หรือ บริษัทที่ไม่ได้ลงเงินจริงตามที่ได้จดทะเบียน จะทำให้เกิดบัญชีเงินให้กู้ยืมกรรมการเกิดขึ้น บริษัทในกลุ่มนี้จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3.3% เนื่องจากเข้าข่าย การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
อ่านเพิ่มเติมว่าทำไมบริษัทที่ไม่ได้ลงเงินจริงตามที่ได้จดทะเบียน จึงทำให้เกิดบัญชีเงินให้กู้ยืมกรรมการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ : ทุนจดทะเบียนบริษัทคืออะไร
2. หากบริษัทมีการขายอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ก็ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดิน เนื่องจากเข้าข่ายการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โดยอัตราภาษีที่ต้องเสียคือ 3.3%
เรียนรู้เพิ่มเติมจากสรรพากร : ภาษีธุรกิจเฉพาะ
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่บุคคลต้องเสียหากว่าบุคคลนั้นมีเงินได้เกิดขึ้นในระหว่างปีภาษี
จริงๆแล้วภาษีตัวนี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยตรง แต่จะเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นของบริษัทหากได้รับผลตอบแทนจากบริษัทในทางใดทางหนึ่งดังนี้
- หากผู้ถือหุ้นที่เป็นกรรมการ / พนักงานของบริษัท ได้รับเงินเดือนจากบริษัท เงินเดือนที่ได้รับดังกล่าว จะต้องนำไปเป็นเงินได้พึงประเมินในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี และผู้ถือหุ้นต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปยื่น แบบ ภงด.90/91
- หากบริษัทมีผลกำไร และมีการจ่ายเงินปันผลตอบแทนคืนมาให้แก่ผู้ถือหุ้น ทางผู้ถือหุ้นที่ได้รับเงินปันผลจะมีสิทธิเลือกได้ว่าจะให้ภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ เป็น Final tax เลยก็ได้ หรือจะเลือกเครดิตภาษีเงินปันผลก็ได้
ในส่วนนี้ผมจะมีบทความอธิบายรายละเอียดพร้อมยกตัวอย่างให้อีกทีครับในบทความต่อๆไปของผม
เรียนรู้เพิ่มเติมจากสรรพากร : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สรุป
ในการจดทะเบียนบริษัทนั้นทางคุณควรที่จะรู้ว่ามีภาษีอะไรบ้างที่มาเกี่ยวข้องกับเรา เหตุผลสำคัญนั่นคือ ผู้ประกอบการจะเป็นต้นทางในการทำธุรกิจ รวมทั้งออกเอกสารต่างๆ ซึ่งหากคุณไม่ได้รู้เรื่องกฎหมายภาษีต่างๆก็จะทำให้คุณออกเอกสารต่างๆผิดได้ เช่น หัก ณ ที่จ่ายในอัตราที่ผิด เป็นต้น พอเอกสารต้นทางผิดก็จะส่งผลการทำบัญชีของผู้ทำบัญชีผิดตามไปด้วยได้ ดังนั้นความรู้ทางด้านบัญชี ภาษีจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการจดทะเบียนเป็นบริษัท
หลังจากที่ได้เข้าใจภาษีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัทแล้ว ท่านใดสนใจจดทะเบียนบริษัทด้วยตนเอง สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ดูรายละเอียดได้เลย : จดทะเบียนบริษัทออนไลน์
สงสัยตรงไหนติดต่อมาได้เลยครับ ผมยินดีให้ความช่วยเหลือ
ช่วยแชร์บทความให้หน่อยครับ